GIT ชี้ การปรับปรุงคุณภาพพลอยเพื่อความสวยงาม เป็นเรื่องปกติ แนะผู้บริโภคควรศึกษาเพื่อประโยชน์ในการซื้อขาย

ข่าวทั่วไป Wednesday June 13, 2018 11:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 มิ.ย.--สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ เผยว่า ปัจจุบันการค้าขายพลอยสีในตลาดส่วนใหญ่ ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่นั่นคือ การขาดความเข้าใจในเรื่อง "การปรับปรุงคุณภาพพลอยสี" ซึ่งโดยส่วนมากมีความคิดที่ว่า พลอยที่ปรับปรุงมานั้นจะมีคุณภาพที่ไม่ค่อยดีนัก ซึ่งแท้จริงพลอยสีสำคัญหลายชนิดที่ค้าขายกันอยู่ในตลาดมักมีการปรับปรุงคุณภาพ และถือว่าการปรับปรุงคุณภาพจึงจัดได้ว่าเป็นอีกขั้นตอนที่สำคัญอย่างยิ่งในการผลิตพลอยสีเพื่อใช้ในการทำเครื่องประดับ ที่ช่วยสร้างความสวยงามให้เกิดขึ้นแก่อัญมณี ซึ่งพลอยที่สวยงาม และไม่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพนั้นมีหายาก นั้นค่อนข้างมีราคาสูงกว่าพลอยที่ปรับปรุงคุณภาพ การปรับปรุงคุณภาพพลอยที่รู้จักกันโดยทั่วไป คือ การเผาพลอย (heat treatment) หรือที่เรียกติดปากว่า "การหุงพลอย" ซึ่งเป็นการใช้ความร้อนในการเปลี่ยนสี หรือเพิ่มความสะอาดของเนื้อพลอย ผลที่ได้มักมีความคงทน จึงทำให้เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปในตลาด โดยพลอยที่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพโดยการเผา มีหลายประเภท อาทิ ทับทิม ไพลิน เขียวส่อง บุษราคัม แทนซาไนต์ อะความา-รีน ทัวร์มาลีน และเพทาย อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงคุณภาพพลอย ยังมีอีกหลายวิธี เช่นการย้อมสี การอาบรังสี การใส่สารโพลีเมอร์ ซึ่งวิธีการปรับปรุงคุณภาพในแต่ละแบบนั้น จะขึ้นอยู่กับชนิดของพลอย เช่น การย้อมสี เหมาะกับ หยก เทอร์คอยส์ ลาปิสลาซูรี การอาบรังสี เหมาะกับ โทแพสสีฟ้า ทัวร์มาลีนสีแดงชนิดรูเบลไลท์ เบริลสีทอง เป็นต้น หรือหากเป็นการปรับปรุงคุณภาพด้วยการใส่สารโพลีเมอร์ เช่น น้ำมัน ให้เข้าไปอุดตามรอยแตกร้าวในพลอยเพื่อบดบังรอยแตก และทำให้พลอยสวยขึ้น พบมากในมรกต และ หยก เป็นต้น ซึ่งวิธีต่างๆ เหล่านี้เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปในตลาด แต่อย่างไรก็ตามสำหรับการซื้อขาย นั้น ผู้ขายจำเป็นต้องมีการระบุให้ชัดเจน เพื่อผู้บริโภคจะได้ทราบถึงความเป็นมาของอัญมณี ผลลัพธ์ของอัญมณีที่อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต ผ่านใบรับรองคุณภาพอัญมณีและเครื่องประดับ นางดวงกมล กล่าวต่อว่า "จะเห็นว่าการปรับปรุงคุณภาพไม่ใช่สิ่งไกลตัว หากแต่ผู้ค้าควรจะต้องมีความเข้าใจและทำการสื่อสารหรือเปิดเผยข้อมูลแก่ผู้บริโภคได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งผู้บริโภคจำเป็นต้องศึกษาและเข้าใจธรรมชาติของอัญมณีที่ชื่นชอบเพื่อประโยชน์ในการซื้อและขายที่ถูกต้อง ทั้งนี้ GIT ในฐานะหน่วยงานตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานของภาครัฐของประเทศไทยมีห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีระดับมาตรฐานสากล สามารถให้การตรวจสอบได้อย่างแม่นยำ และอัญมณีและเครื่องประดับที่ผ่านการตรวจสอบและได้ใบรับรองจาก GIT ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการ รวมถึงผู้บริโภคว่าได้รับสินค้าที่มีคุณภาพ " "ปัจจุบัน GIT ได้ดำเนินโครงการ "ซื้อด้วยความมั่นใจ Buy With Confidence (BWC)" เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคและนักท่องเที่ยว ที่ซื้อสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในประเทศไทย โดย GIT มอบตราสัญลักษณ์ BWC แก่ร้านค้าและบริษัทที่ประกอบกิจการอัญมณีและเครื่องประดับ ที่จำหน่ายสินค้าคุณภาพดี มีใบรับรองคุณภาพอัญมณีและเครื่องประดับจาก GIT กว่า 100 ราย ทั่วประเทศ ดังนั้นผู้บริโภค และนักท่องเที่ยวที่ต้องการซื้อที่ต้องการสินค้าและเครื่องประดับมาตรฐาน ก็สามารถซื้อสินค้าได้อย่างมั่นใจมากยิ่งขึ้น เพียงมองหาสติกเกอร์ตราสัญลักษณ์ BWC หน้าร้านค้า และใบรับรองคุณภาพอัญมณีและเครื่องประดับจาก GIT เพียงเท่านี้ ก็มั่นใจได้ว่า อัญมณีหรือเครื่องประดับที่คุณจะเลือกซื้อนั้นมีคุณภาพตรงใจแน่นอน" นางดวงกมล กล่าวทิ้งท้าย ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ ซื้อด้วยความมั่นใจ Buy With Confidence (BWC) ได้ที่: http://bwc.git.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ