กรุงเทพฯ--13 มิ.ย.--บี.กริม เพาเวอร์
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดงานนิทรรศการ "ฝากไว้ในแผ่นดิน 140 ปี บี.กริม" ในวาระฉลองการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมายาวนานกว่า 140 ปี ของ บี.กริม
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในพิธีเปิดงานนิทรรศการ "ฝากไว้ในแผ่นดิน 140 ปี บี.กริม" ที่จัดขึ้นเนื่องในโอกาสฉลองครบรอบการดำเนินธุรกิจ 140 ปี ของ บี.กริม ในประเทศไทย โดยมี ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน)ในฐานะทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูลลิงค์ สัญชาติเยอรมันที่มีโอกาสได้รับใช้ประเทศและราชวงศ์จักรีเป็นเวลายาวนานถึง 6 รัชสมัย พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงเข้าเฝ้าฯ รับเสด็จฯ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน เมื่อเร็วๆ นี้
ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ เปิดเผยว่า จากจุดกำเนิด ร้านขายยาแห่งแรกในสยาม และ เรื่องราวผู้ที่ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น "เภสัชกรหลวง แห่งราชสำนักสยาม" โดยเภสัชกรและนักธุรกิจ สัญชาติเยอรมัน ในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อราว พ.ศ. 2421 หรือกว่า 140 ปี ที่ผ่านมา เพื่อจะเป็นการเฉลิมฉลองโอกาสพิเศษนี้ บี.กริม ในฐานะที่ตระหนักอยู่เสมอว่าเป็น "หุ้นส่วนทางสังคม" ที่ยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานความรับผิดชอบต่อสังคมไทยในทุกๆ ด้าน จึงอยากให้คนไทยทุกคนได้มีส่วนร่วมในวาระสำคัญนี้ ผ่านการจัดงานนิทรรศการ "ฝากไว้ในแผ่นดิน 140 ปี บี.กริม" โดยนิทรรศการฯ จัดแสดงแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ "เรื่องเล่าจากการสื่อสารทางไปรษณีย์ ความสัมพันธ์ไทย – เยอรมนี และ 140 ปี บี.กริม" และ การจัดแสดงงานศิลปะโดยศิลปินไทยร่วมสมัย 15 ท่าน เพื่อระดมทุนสนับสนุนการดำเนินงานหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
โดยในส่วนแรก ได้รวบรวมข้อมูล หลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่บันทึกผ่านการสื่อสารทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศไทยและเยอรมัน (Postal History Collection) อันทรงคุณค่า ที่นำมาจัดแสดงอย่างสมบูรณ์ที่สุด อายุเก่าแก่กว่า 160 ปี จำนวน 50 ชิ้นจากทั้งหมด 232 ชิ้น ซึ่งหาดูได้ยากยิ่ง หลักฐาน ที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้เป็นการสื่อสารทางไปรษณีย์ ที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งยังส่งทางเรือ จนถึงรัชกาลที่ 9 โดยแบ่งเป็น 6 หมวดสำคัญ ได้แก่ หลักฐานการสื่อสารของผู้ก่อตั้ง บี.กริม หลักฐานการสื่อสารระหว่างสมาชิกตระกูลลิงค์ หลักฐานการสื่อสารทางการทูตระหว่างกงสุลเยอรมนีและสยาม หลักฐานการสื่อสารทางธุรกิจของบี.กริม หลักฐานการสื่อสารของบริษัทเยอรมันที่เข้ามาทำธุรกิจในสยามและชุดไปรษณียบัตรที่ส่งโดยสมาคมชาวเยอรมันในบางกอก นอกจากนั้นยังจะได้ชมหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจอีก อาทิ ซองจดหมาย ตราประทับ ตราไปรษณียากร การ์ดไปรษณียบัตร และไปรษณียบัตรรูปภาพ เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์แห่งการมีตัวตนอยู่จริงของบุคคลสำคัญ ทั้งยังสะท้อนภาพอดีตและความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง การคมนาคม และสภาพสังคมของทั้งสองประเทศอย่างชัดเจน นับเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นเล็ก ๆ ที่ช่วยเติมเรื่องราวให้หน้าประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา 5 รัชสมัยของ บี.กริม เกิดเป็นภาพที่สมบูรณ์ได้ในที่สุด โดยได้นักสะสมและภัณฑารักษ์นำหลักฐานเหล่านี้ มาร้อยเรียงเป็นเรื่องเล่าสำหรับคนรักประวัติศาสตร์ในนิทรรศการครั้งนี้ เพื่อให้ผู้ชมสามารถย้อนอดีตไปกับเรื่องราวความสัมพันธ์ของประเทศเยอรมนีและประเทศไทย พร้อมสอดแทรกเกร็ดความรู้เรื่องการค้าของ บี.กริม "ห้างฝรั่ง" ที่เก่าแก่ที่สุดของไทยที่ดำเนินกิจการอย่างต่อเนื่องมาถึง 6 รัชกาล ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงรัชกาลปัจจุบัน
ในส่วนที่สองของงานนิทรรศการฯ นี้ ยังได้รับการสนับสนุนจาก 15 ศิลปินร่วมสมัย ที่ได้สร้างสรรค์ผลงานที่ได้แรงบันดาลใจจาก ปรัชญาการดำเนินธุรกิจด้วยความโอบอ้อมอารี (Doing business with compassion) อันเป็นแนวคิดที่ บี.กริม ยึดถือมาตั้งแต่เริ่มทำธุรกิจจวบจนปัจจุบัน ศิลปินทั้ง 15 ท่าน ได้ทำความเข้าใจและตีความ "วิธีทำธุรกิจแบบ บี.กริม" ห้างฝรั่งที่มีอายุยืนยาวคู่สังคมไทยมานานถึง 140 ปี ก่อนนำเสนอ ผ่านงานศิลปะร่วมสมัย 15 ชิ้น โดยรายได้จากการจำหน่ายผลงานที่จัดแสดงในนิทรรศการ จะนำไปสนับสนุนการดำเนินงานของหอศิลปะกรุงเทพฯ ต่อไป
ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ยังเปิดเผยอีกว่า ในวาระฉลองครบรอบ 140 ปี บี.กริม ยังได้รับเกียรติจากนักเขียนรางวัลแว่นแก้ว คุณยุวดี ต้นสกุลรุ่งเรือง ได้นำเรื่องราวของ บี.กริม จากร้านขายยาแห่งแรกในสยาม สู่ห้างเยอรมันเก่าแก่ที่สุด ถ่ายทอดออกมาเป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ชื่อ "ฝากไว้ในแผ่นดิน" ซึ่งเพิ่งวางแผงในเดือนเมษายน 2561 และจำหน่ายหมดอย่างรวดเร็วจนต้องพิมพ์ซ้ำ ทั้งนี้นอกจากบันทึกไว้ในรูปแบบหนังสือแล้ว เรื่องราวอันทรงคุณค่าของ บี.กริม ตลอด 140 ปี ยังได้รับการถ่ายทอดเป็นสารคดีบนแผ่นฟิล์มโดยผู้ผลิตสารคดีระดับโลก คุณโลร็อง มาแลสปีน ผู้ผลิตสารคดี "วิวัฒนาการเศรษฐกิจไทยบนเส้นทาง โลกาภิวัตน์" ซึ่งได้สะท้อนให้เห็นความเกี่ยวข้องของ บี.กริม กับพัฒนาการทางเทคโนโลยี เศรษฐกิจ และสังคมของไทย เพราะสารคดีชุดนี้ ฉายภาพระยะเวลา 140 ปี นับแต่การก่อตั้ง ห้างสยามดิสเป็นซารี่ ในพ.ศ. 2421 จนถึง มร. อดอล์ฟ ลิงค์ ได้เป็นผู้นำใน การดำเนินธุรกิจของบริษัท บี.กริม แอนด์โก ในศตวรรษที่ 20 และผู้สืบทอดรุ่นต่อ ๆ มา ได้ขยายกิจการออกไปจนปัจจุบัน ได้ดำเนินธุรกิจในหลายภาคส่วนตั้งแต่ ธุรกิจพลังงาน เครื่องปรับอากาศ สุขภาพ ไลฟ์สไตล์ คมนาคม และ อสังหาริมทรัพย์ เรียกได้ว่าเป็นบริษัทต่างชาติที่ผ่านช่วงเวลาวิกฤตของประเทศไทย และมีบทบาทใน อุตสาหกรรมสำคัญ ๆ หลายสาขา" ซึ่งวีดิทัศน์ชุดดังกล่าวนี้ ก็จะมีให้ผู้เข้าชมงานนิทรรศการฯ ได้รับชมด้วยเช่นกัน
ผู้สนใจสามารถเข้าชมงานนิทรรศการ "ฝากไว้ในแผ่นดิน 140 ปี บี.กริม" ได้ตั้งแต่วันที่ 10-20 มิถุนายน 2561 ระหว่างเวลา 10.00 - 21.00 น. (หยุดทุกวันจันทร์) ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ