กรุงเทพฯ--3 ธ.ค.--สคส.
หน่วยงานภาครัฐเอกชนร่วมงานมหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติครั้งที่ 4 ล้นเวที แชร์ประสบการณ์ “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” ครั้งยิ่งใหญ่ นายกสภาจุฬาฯ ชี้การเปลี่ยนแปลงองค์กรเป็นองค์กรแห่งสุขต้องเริ่มที่คน ขณะที่ผอ.บ้านกาญจนาภิเษกเผยอำนาจผู้นำ ยิ่งไม่ใช้ ยิ่งมีมาก
ในงานมหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพคเมืองทองธานี ซึ่งจัดโดย สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การเปลี่ยนแปลงเพื่อความสุขในการทำงาน” ว่า ความสุขในการทำงานจะเกิดได้ต้องเริ่มเปลี่ยนจากกระบวนทัศน์ และต้องจัดการกับความทุกข์ของตนเองก่อน ซึ่งความทุกข์จากการทำงานไม่ว่าจะเป็นลูกน้องหรือหัวหน้าก็สามารถสร้างความทุกข์ให้เกิดขึ้นในที่ทำงานงานได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หัวหน้าที่ชื่อว่า “คุณสำราญ คุณอำนาจ คุณเผด็จ คุณระเบียบจัด คุณประหยัดเกิดไป หัวหน้าที่ดีต้องเป็นคุณสมาน” ตัวอย่างที่หน่วยงานที่ตนรู้สึกประทับใจทั้งที่เป็นหน่วยงานที่ทำงานหนักมาก คือ โรงพยาบาลชุมชนบ้านหนองระเหว จ.ชัยภูมิ และโรงพยาบาลป่าแดด จ.เชียงราย ที่ต้องให้บริการประชาชนในพื้นที่ซึ่งมีอยู่นับแสนคน ทั้งยังต้องเข้าประชุม และเข้าเวรดึก แต่ที่นี่จะมีการจัดการที่ดีจะเรียกว่า “นอกกรอบ” ด้วยการให้พยาบาลเข้าเวรดึกแทน ทั้งๆ ที่ระเบียบไม่เอื้ออำนวยให้ ซึ่งโรงพยาบาลทั้งสองแห่งนี้หากให้หน่วยงานต่างประเทศมาประเมินคุณภาพก็คงไม่ผ่านเกณฑ์ แต่สำหรับประเทศไทยโรงพยาบาลทั้งสองแห่งนี้กลับผ่านการเมินและรับรองคุณภาพ
สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งสำหรับการจัดการกับความทุกข์ก็คือจะต้องเปลี่ยนที่ใจตนเองก่อน ต้องรู้จักฟังคนอื่นให้มากขึ้น และต้องไวต่อความรู้สึกที่ได้รับแล้วแสดงออกไปอย่างรวดเร็ว แต่มีข้อควรระวังคือความรู้สึกที่รับมา เราต้องมองด้านบวกและแสดงออกไปในด้านบวก ด้วยความจริงใจ ไว้วางใจ หลายคนเป็นทุกข์เพราะแบกภาระงานไว้คนเดียวมากมาย หากลดบทบาทตัวเองลงจากคุณอำนาจ แล้วรู้จักให้ความไว้วางใจผู้อื่น งานที่แบกรับไว้คนเดียวก็จะลดลงเมื่อทุกคนทำงานแทนกันได้ และตรงกับเรื่องการจัดการความรู้ที่เป็นการจัดการความสัมพันธ์ของมนุษย์ ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ตนคิดว่าความเปลี่ยนแปลงไปสู่ความสุขในการทำงานคือ ตัวเราเอง และการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างตัวเราเองกับคนรอบข้าง ซึ่งตรงกับหลักการของการจัดการความรู้ และคลื่นพลังของผู้เข้าร่วมงานครั้งนี้ถือเป็นบทพิสูจน์ความสำเร็จของการนำการจัดการความรู้ไปใช้ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่สัมผัสได้ด้วยใจของทุกคน
สำหรับในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่น่าสนใจคือการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในฐานะ “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” ระหว่าง 2 หน่วยงานคือ ผู้อำนวยการบ้านกาญจนาภิเษก และอดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์
โดยนางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการบ้านกาญจนาภิเษก กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงสถานพินิจให้เป็นบ้านหลังที่ 2 ของเยาวชนผู้กระทำผิดว่า ในอดีตต้องยอมรับว่าเจ้าหน้าที่ซึ่งเข้ามารับหน้าที่ในบ้านกาญจนาภิเษกได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมการทำงานแบบเดิมๆ ใช้คำพูดและความรุนแรงควบคุมเยาวชน ดังนั้นการที่จะเปลี่ยนแปลงเยาวชนจากภายในให้เป็นคนดีได้ ก็ต้องเปลี่ยนทัศนคติของเจ้าหน้าที่ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งปัจจุบันภาพของผู้คุมเหมือนคุกผู้ใหญ่เปลี่ยนไปเป็น “ครูที่ปรึกษาของเยาวชนในบ้านกาญจนาภิเษกไปแล้ว” ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงของบ้านกาญจนาภิเษกเกิดขึ้นจากหลายข้อด้วยกัน คือ 1.ไม่รับมรดกทางความคิดเดิม 2.สร้างวาทกรรมของตัวเองขึ้นมาใหม่ 1 ชุด ว่าบ้านกาญจนาภิเษก ไม่ใช่คุก เยาวชนไม่ใช่นักโทษ ไม่ใช่อาชญากรและไม่มีความจำเป็นสำหรับบ้านหลังนี้ และต้องสร้างวาทกรรมที่สอดคล้องกับบริบท ไม่ใช่วาทกรรมที่โรแมนติก นอกจากกระบวนการดังกล่าวแล้ว สิ่งสำคัญผู้นำต้องลดอำนาจลงและปรับสมดุลเชิงอำนาจทั้งเยาวชนและเจ้าหน้าที่และสิ่งที่เหนือกว่าการจัดการความรู้คือคุณค่าความเป็นมนุษย์ ที่เราต้องให้คุณค่าของกันและกันอย่างเท่าเทียม
นายนที จิตสว่าง อธิบดีกรมคุมประพฤติและอดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า กรมฯพยายามส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยให้เจ้าหน้าที่เข้าใจว่าคนทุกคนมีศักยภาพภายในที่แตกต่างกัน เพียงแต่ต้องค้นหาและพัฒนา ใครเก่งด้านไหนก็พัฒนาด้านนั้น กรมฯเปิดโอกาสให้บุคลากรแต่ละคนได้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ และผู้นำก็มีหน้าที่ในการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของเจ้าหน้าที่ก่อนในเบื้องต้น อีกทั้งต้องเชื่อมั่นในวิธีการเรียนรู้ เชื่อในวิธีการพัฒนาคน สร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ให้ฝังอยู่ในตัวคน นอกจากนี้ยังปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้จากการฝึกอบรมเป็นการเน้นเรื่องการให้เขาเรียนรู้ด้วยตัวเขาเอง
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) กล่าวว่า การจัดงานมหกรรมการจัดการความรู้ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 4 มีหัวข้อการเรียนรู้ใหญ่ในเรื่อง “เปลี่ยนกระบวนทัศน์พัฒนาการเรียนรู้” ซึ่งผู้จัดพยายามให้ผู้เข้าร่วมงานเห็นและเข้าใจด้วยตนเองว่า เมื่อมีการนำการจัดการความรู้ไปใช้แล้วสิ่งที่เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อบุคคล ต่อทีมงาน และต่อองค์กรเป็นอย่างไร เน้นให้มองหาเหตุปัจจัยแห่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยผู้ที่เข้าร่วมงานในวันนี้จะเห็นการเรียนรู้ที่ต่างไปจากการเรียนรู้แบบเดิม เป็นการเรียนรู้เชิงปฏิบัติ เรียนรู้จากพฤติกรรมเพื่อเปลี่ยนสมอง ดังเช่นกรณีของโรงเรียนเพลินพัฒนาเด็กชั้นอนุบาล2 สามารถตอบ 5 บวก 5 ได้ทันทีว่า 10 โดยใช้เวลาเพียงไม่ถึง10 วินาที เป็นต้น
ทั้งนี้ในการจัดงานดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมกว่า 1,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ที่กำลังตื่นตัวเรื่อง “การจัดการความรู้” ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนางาน พัฒนาคน และองค์กรในแบบฉบับของประเทศไทย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ประชาสัมพันธ์สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) โทร.022701350-4 ต่อ 112