กรุงเทพฯ--14 มิ.ย.--แฟรนคอม เอเชีย
ทีมตัวแทนจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) คว้า 3 รางวัลยอดเยี่ยมจากเวทีประชันทักษะไอซีทีระดับโลก Huawei's ICT Competition 2018 ได้แก่ รางวัลสถาบันการศึกษายอดเยี่ยม (Huawei Excellent ICT Academy Award) รางวัลผู้สอนยอดเยี่ยม (Huawei Excellent ICT Academy Instructor Award) และรางวัลผลงานดีเด่น (Outstanding Performance Award)
การแข่งขัน Huawei's ICT Competition 2018 ปีนี้ มีผู้เข้าร่วมแข่งขันกว่า 40,000 คน จากมหาวิทยาลัยกว่า 800 แห่งใน 32 ประเทศทั่วโลก รวมถึงจีน, สหราชอาณาจักร, สเปน, อิตาลี, รัสเซีย, ออสเตรเลีย, ไทย, เม็กซิโก, แอฟริกาใต้, อียิปต์, ซาอุดิอาระเบีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, ปากีสถาน และอินเดีย โดยมีการแข่งขันรอบชิงแชมป์ระดับโลกไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่เมืองเซิ่นเจิ้น สาธารณรัฐประชาชนจีน
การแข่งขันทักษะด้านไอซีทีของหัวเว่ยจัดขึ้นเพื่อเฟ้นหาผู้มีความสามารถ ที่พร้อมก้าวไปกับการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล และส่งเสริมการกำหนดแนวทางพัฒนาบุคลากรให้มีประสิทธิภาพ ทั้งในแง่ของดีมานด์และซัพพลาย รวมถึงพัฒนาแนวคิดระบบนิเวศเพื่อรองรับการพัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถต่อไป
มร. หม่า เยว่ รองประธานบริหาร กลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์ของหัวเว่ย และประธานบริหารฝ่ายขายทั่วโลก กล่าวว่า "ในช่วงรอยต่อของการเข้าสู่ยุคแห่งความเป็นอัจฉริยะที่ทุกสิ่งสามารถรับรู้ เชื่อมต่อและมีความชาญฉลาด การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเสริมการทำธุรกิจจึงอาจเป็นวิถีทางเดียวที่จะช่วยให้องค์กรพบกับความสำเร็จและค้นพบนวัตกรรมใหม่ๆ การสร้างระบบนิเวศกลุ่มผู้มีความสามารถ (Talent) ถือเป็นหัวใจสำคัญในกลยุทธ์ระยะยาว "Platform + ecosystem" ที่หัวเว่ยยึดมั่นมาโดยตลอด บวกกับการร่วมมือกับพันธมิตร เมื่อผสานเข้ากับความรู้ความเชี่ยวชาญด้านไอซีทีที่เราได้สั่งสมมาอย่างยาวนาน สิ่งเหล่านี้จะหล่อหลอมเป็นรากฐานอันแข็งแกร่งที่คอยขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรมต่อไปในภายภาคหน้า หัวเว่ยจะยังไม่หยุดเพียงแค่นี้ แต่เราจะยังสร้างมาตรฐานระดับโลกเพื่อพัฒนาอัจฉริยะด้านไอซีทีต่อไปในอนาคต
ดร. กมล เกียรติเรืองกมลา รองอธิการบดีฝ่ายสารสนเทศ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า "การเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่นักศึกษาของเราจะได้นำความรู้และทักษะที่ได้ร่ำเรียนมาปรับใช้เพื่อนำเสนอนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ได้จริง ซึ่งถือเป็นประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยม และยังเป็นก้าวสำคัญที่เราจะได้ใช้โอกาสจากเวทีนี้เพื่อพัฒนาเยาวชนรุ่นใหม่ให้กลายเป็นกำลังสำคัญที่แข็งแกร่งของอุตสาหกรรมไอซีทีต่อไปในอนาคต"
การแข่งขัน Huawei's ICT Competition 2018 ครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้ธีม "Connection - Glory - Future" โดยมีองค์กรภาครัฐ สถาบันการศึกษาขั้นสูง พันธมิตรด้านการฝึกอบรม และบริษัทต่างๆ ร่วมกันกำหนดแพลตฟอร์มให้มหาวิทยาลัยและนักศึกษาจากทั่วโลกได้มาแข่งขันและพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดในช่วงแห่งการก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมไอซีที การแข่งขันนี้ไม่เพียงเฟ้นหาและมอบรางวัลเชิดชูความสำเร็จให้กับนักศึกษาในสาขาไอซีทีเท่านั้น แต่ยังได้ให้คำแนะนำและชี้ให้เห็นถึงทิศทางการเติบโตในสายอาชีพต่อไป ถือเป็นการเดินทางเพื่อสำรวจเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ล่าสุด และเพื่อทำความเข้าใจถึงเทรนด์อุตสาหกรรมล่าสุด นอกจากนี้ การแข่งขันยังทำให้นักศึกษาเกิดความเข้าใจเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างรอบด้านและเจาะลึกมากยิ่งขึ้น
การแข่งขันด้านไอซีที ประจำปี 2018 ของหัวเว่ยได้เสร็จสิ้นลงแล้ว แต่หัวเว่ยยังไม่หยุดก้าวเดินต่อไปเพื่อพัฒนาระบบนิเวศสำหรับบุคลากรผู้มีความสามารถเป็นที่ยอมรับ โครงการความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษาและองค์กร (Academia-enterprise cooperation program) ซึ่งได้รับการส่งเสริมโดย Huawei ICT Academy ได้ดำเนินการไปทั่วโลกผ่านการแข่งขันต่างๆ มากมาย พันธมิตรด้านบุคลากร จ็อบแฟร์ และงานอื่นๆ ความร่วมมือนี้จะทำให้การเชื่อมโยงระหว่างสถานศึกษาและองค์กรเข้มแข็งขึ้น เพื่อลดช่องว่างระหว่างการพัฒนาบุคลากรและความต้องการบุคลากรที่มีความสามารถ ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาระบบนิเวศบุคลากรที่มีความสามารถทั่วโลก
หัวเว่ยจะผลักดันกลยุทธ์ "Platform + ecosystem" ให้มากยิ่งขึ้น เพิ่มการลงทุนอย่างต่อเนื่อง และสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาแพลตฟอร์มที่สามารถผนวกรวม ทำงานร่วมกันแบบอินเทอร์แอคทีฟ เพื่อให้เป็นแพลตฟอร์มที่ต่อยอดไปสู่แพลตฟอร์มอื่น ๆ และวางรากฐานที่มั่นคงเพื่อสร้างระบบนิเวศแบบเปิดที่ยั่งยืน มีการแบ่งปันและพัฒนาต่อไปได้ อันจะนำไปสู่ผลลัพธ์ในขั้นสุดท้าย นั่นคือ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปสู่ทุกคน ทุกครอบครัว และทุกองค์กร เพื่อสร้างโลกอัจฉริยะที่เชื่อมโยงสื่อสารถึงกันอย่างเต็มรูปแบบ