กรุงเทพฯ--3 ธ.ค.--ก.พลังงาน
วันนี้ (3 ธ.ค.2550) ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในการแถลงข่าว “โครงการส่งเสริมการใช้เตาหุงต้มและเตาชีวมวลประสิทธิภาพสูง” ณ ห้องประชุมใหญ่ อาคาร 2 กระทรวงพลังงาน
ดร. ปิยสวัสดิ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันพบว่า ประเทศไทย ยังมีการใช้ใช้ฟืนและถ่านไม้เป็นเชื้อเพลิงทั่วประเทศกว่า 5.8 ล้านครัวเรือน และส่วนใหญ่จะใช้เตาหุงต้มที่มีประสิทธิภาพเชิงความร้อนประมาณ 19% ซึ่งนับว่ามีประสิทธิภาพน้อย โดยโครงการส่งเสริมการใช้เตาหุงต้มหรือเตามหาเศรษฐี และเตาชีวมวลประสิทธิภาพสูง จะช่วยให้แต่ละครัวเรือน ได้ใช้เตาที่มีประสิทธิภาพเชิงความร้อนเพิ่มขึ้น 29% และหากแต่ละครัวเรือนได้เปลี่ยนมาใช้เตามหาเศรษฐีเพียง 1 เตา ต่อครัวเรือนแล้ว นอกจากจะได้ค่าความร้อนที่เพิ่มขึ้น ยังช่วยประหยัดการใช้ถ่านได้เฉลี่ยปีละ 690 ล้านกิโลกรัม หรือคิดเป็นมูลค่าปีละ 6,900 ล้านบาท หรือลดการใช้ไม้เป็นเชื้อเพลิง 3,450 ล้านกิโลกรัม/ปี คิดเป็นพื้นที่ปลูกไม้โตเร็วประมาณปีละ 9 แสนไร่ นอกจากนี้ ผู้ที่เปลี่ยนมาใช้เตามหาเศรษฐี จะสามารถประหยัดการซื้อถ่านได้เฉลี่ยปีละ 1,200 บาทต่อเตาอีกด้วย
ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ดำเนินโครงการฯ นี้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการผลิตและการใช้เตามหาเศรษฐี โดยจะทำการแจกจ่ายให้ประชาชนในพื้นที่นำร่องในปีแรก 180,000 เตา ใน ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคละประมาณ 85,000 ใบ ในส่วนของกรุงเทพมหานคร ประมาณ 10,000 ใบ ในส่วนของผู้ผลิต จะสร้างกลไกส่งเสริมการผลิตโดยอบรมเทคนิคการผลิตและการตลาด จัดหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ และการหาตลาดรองรับ ในส่วนของผู้จำหน่าย จะจัดอบรมด้านการตลาด จัดทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ และกิจกรรมส่งเสริมการขาย
นายพานิช พงศ์พิโรดม อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า พพ. ได้ตั้งเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้มีการผลิตและการใช้เตาหุงต้ม และเตาประสิทธิภาพสูงไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านใบ ภายในระยะเวลา 5 ปี (2550-2554) ซึ่งจะสามารถลดการใช้พลังงานจากถ่านไม้คิดเป็น 123.7 Ktoe (พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ)โดยในปีแรกนี้ ได้กำหนดเป้าหมายในการส่งเสริมการใช้และการผลิต ไม่น้อยกว่า 180,000 ใบ สามารถลดการใช้พลังงานจากถ่านไม้คิดเป็น 14.8 Ktoe
โดย พพ. จะเร่งประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ ถึงคุณสมบัติ และประโยชน์ของเตามหาเศรษฐี ที่นอกจากจะให้ค่าความร้อนสูงกว่าแล้ว ยังใช้งานได้ทนทานกว่าเตาธรรมดาถึง 2 เท่า รวมทั้งจะประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงจุดจำหน่าย และแหล่งผลิต นอกจากนี้จะดำเนินการกระตุ้นให้เกิดการผลิต การบริหารธุรกิจกับผู้ผลิตเตา รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือจากผู้ค้าปลีก ค้าส่ง และบริษัทที่เป็นศูนย์กลางการซื้อขายขนาดใหญ่ทั้งในระดับชุมชน อำเภอ และจังหวัด เพื่อให้เกิดความมั่นใจในระบบตลาดยิ่งขึ้น