กรุงเทพฯ--3 ธ.ค.--ส.ป.ก.
สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร, หอการค้า 5 จังหวัด และตัวแทนชาวนาที่ทำกินบนผืนนาพระราชทาน ร่วมใจปลูกข้าวนพรงค์ ในโครงการข้าว 9 สายพันธุ์ บนผืนดินพระราชทาน เพื่อนำข้าวที่คัดสมบูรณ์ด้วยคุณค่าทางโภชการ โดยหวังว่าจะได้ทูลเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในวันเฉลิมพระชนม์พรรษา 80 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม 2550
การดำเนินโครงการข้าว 9 สายพันธุ์ บนผืนดินพระราชทาน ซึ่งเป็นการตกลงใจร่วมกันจาก ส.ป.ก., ตัวแทนชาวนาที่ทำกินบนผืนนาพระราชทาน 5 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา, พระนครศรีอยุธยา, ปทุมธานี, นครนายก และนครปฐม, เครือข่ายปราญช์ชาวนา, หอการค้า 5 จังหวัด ปลูกข้าว 9 พันธุ์ บนแปลงนา 1 ไร่ ของ นายวิเศษ นามบดีอุบล เพื่อเก็บเกี่ยวและนำทูลเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในระหว่างข้าวได้เจริญเติบโตโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์นั้น ได้มีความเห็นว่าควรใช้ชื่อว่า “ข้าวนพรงค์” เป็นที่รวมข้าวที่มีคุณค่าทั้งทางอาหาร และคุณค่าทางยา โดยหวังว่าข้าวที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่งนี้จะได้ขึ้นโต๊ะเสวย ของบุคคลที่มีพระคุณยิ่งต่อพวกเขา
สำหรับพันธุ์ข้าวที่ตัวแทนชาวนาในผืนนาพระราชทานปลูกด้วยความรักความภักดีครั้งนี้ ประกอบไปด้วยข้าว 9 ชนิด คือ ข้าวหอมมะลิ 105, ข้าวหอมมะลิแดง, ข้าวหอมนิล, ข้าวเหนียวกัญญา, ข้าวเหนียว กข 6, ข้าวหอมศรีโสธร, ข้าวสุพรรณบุรี 1, ข้าวปทุมธานี 1 และข้าวหอมทองคำ โดยการทำนาครั้งนี้ชาวนาในผืนนาพระราชทานตั้งใจให้เป็นข้าวที่มีธาตุอาหารสมบูรณ์ด้วยปุ๋ยอินทรีย์ ปลอดจากสารเคมี และคงคุณค่าทางยา ซึ่งทางหอการค้า 5 จังหวัด เคารพความตั้งใจจริงของตัวแทนชาวนาในผืนนาพระราชทาน ในการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อองค์ผู้พระราชทานที่ดินให้ทำกินมาเกือบ 40 ปี และเป็นโอกาสในการฟื้นฟูพันธุ์ข้าวที่มีค่าหายากในเมืองไทย อันจะเปิดโอกาสในการขายข้าวที่หลากหลายและได้ราคาดียิ่งขึ้นของชาวนาไทย
คณะกรรมการดำเนินการได้จัดพิธีเกี่ยวข้าวนพรงค์ และจัดเตรียมข้าวเพื่อทูลเกล้าฯ ในวันที่ 29 พ.ย. 50 โดยมีเลขาธิการ ส.ป.ก., ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา และผู้ร่วมโครงการฯ เข้าร่วมในพิธี ในตอนบ่ายหอการค้านครปฐมจัดให้มีการรับขวัญข้าวหอมนครชัยศรีกลับบ้าน และจัดให้มีการเสวนาในหัวข้อ “ชาวนาเศรษฐกิจพอเพียง” แลกเปลี่ยนความรู้ในการปลูกข้าว 9 สายพันธุ์ การปลูกข้าวปลอดสารพิษ ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง
อนึ่ง สำหรับผืนนาพระราชทานในพื้นที่ 5 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา, พระนครศรีอยุธยา, ปทุมธานี, นครนายก และนครปฐม มีเนื้อที่รวมกันกว่า กว่า 40,000 ไร่ (สี่หมื่นไร่) และชาวนาได้ทำกินมาตลอดระยะเวลา 40 ปี ด้วยพระมหากรุณาธิคุณขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ฯ ที่พระราชทานต่อประชาชนของพระองค์