กรุงเทพฯ--15 มิ.ย.--NBTC Rights
ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา
กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ
กสทช. กำหนดจัดประมูลคลื่น 1800 MHz ในวันที่ 4 สิงหาคมนี้ โดยเปิดให้ค่ายมือถือยื่นเอกสารในวันที่ 15 มิถุนายน แต่ปรากฏว่า ไม่มีค่ายใดเดินทางมายื่นเอกสารเลย ทั้งที่สำนักงาน กสทช. ยืนยันว่า แต่ละค่ายจำเป็นต้องมีคลื่นมากกว่าที่ถือครองในปัจจุบัน และ GSMA ก็คาดการณ์ว่าหากไม่มีการจัดสรรคลื่นเพิ่ม คุณภาพบริการบรอดแบนด์ผ่านมือถือของไทยจะประสบปัญหาในไม่เกิน 2 ปี
เมื่อมีการวางจำหน่ายสินค้าที่อยู่ในความต้องการของผู้ซื้อในตลาด แต่กลับไม่มีการซื้อขาย เหตุผลหลักก็น่าจะมาจากการตั้งราคาขายที่ไม่เหมาะสมกับกำลังซื้อ ยิ่งมีการบังคับขายพ่วงว่าต้องซื้อเหมา ไม่ขายแยกชิ้น ผู้ซื้อที่ฉลาดก็จะไม่ผลีผลาม และถ้ายังไม่จวนตัวว่าจำเป็นต้องซื้อตอนนี้ ก็ยิ่งจะรอดูไปก่อน
แล้วราคาคลื่น 1800 MHz นำออกมาประมูลครั้งนี้แพงไปไหม การขายคลื่นชุดละ 15 MHz ขนาดใหญ่ไปหรือไม่?
หากอ้างอิงจากผลการศึกษาของ กสทช. แล้วก็พอจะอธิบายได้ไม่ยาก กล่าวคือ ในการประมูลคลื่น 1800 MHz ครั้งก่อน กสทช. ตั้งราคาเริ่มต้นประมูลต่ำกว่าราคาประเมิน แต่ปรากฏว่ามีการสู้ราคากันอย่างดุเดือด จนราคาสูงกว่าราคาประเมินสูงสุดที่เอกชนสามารถทำกำไรได้ตามทฤษฎี และการศึกษาในครั้งนั้นมีสมมติฐานที่สำคัญ 2 ข้อ ข้อหนึ่ง-ในช่วงนี้จะยังไม่มีการจัดสรรคลื่นใหม่อื่นๆ เช่น คลื่น 700 MHz, 2300 MHz หรือ 2600 MHz ถ้ามีการจัดสรรแปลว่ามีสินค้าที่ทดแทนคลื่น 1800 MHz ได้ ราคาคลื่น 1800 MHz จะต่ำลงไปอีก และข้อสอง-ผู้ชนะการประมูลครั้งที่แล้วยังอาจจะต้องการคลื่น 1800 MHz เพิ่มในอนาคตอีกจำนวนหนึ่ง เช่น 5 – 10 MHz เพื่อให้มีจำนวนคลื่นที่เหมาะสม
ภายหลังการประมูลครั้งก่อน กทค. เดิมตกลงใจตามที่สำนักงาน กสทช. เสนอว่าจะใช้ราคาชนะประมูลที่สูงผิดปกติครั้งนั้นเป็นราคาเริ่มต้นการประมูลในอนาคต ไม่แน่ว่าเป็นเพราะต้องการเอาใจผู้ชนะการประมูล เพื่อไม่ให้เสียใจหรือรู้สึกเสียเปรียบที่ชนะประมูลในราคาสูงผิดปกติ หรือเพราะต้องการสยบบางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ผลการประมูลที่ทักท้วงว่า การแข่งขันจนราคาสุดท้ายออกมาสูงลิบนั้นเป็นเรื่องไม่ปกติ ไม่ว่าเหตุผลเบื้องหลังจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่ผลเบื้องหน้านั้นสรุปได้ง่ายๆ คือ ในอนาคต เมื่อค่ายอื่นมาซื้อคลื่นนี้ก็จะต้องซื้อแพงไม่น้อยไปกว่านี้
แล้วต่อมา กสทช. ก็มีมติกำหนดขนาดบล็อกคลื่นที่ 15 MHz ไม่ใช่ 5 MHz ดังที่หลายฝ่ายแสดงความคิดเห็นไว้ในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ทำให้ค่ายที่ต้องการเพียง 5 หรือ 10 MHz ถ้าจะเข้าร่วมการประมูลก็ต้องซื้อคลื่นมากเกินความจำเป็น
นอกจากนี้ สองค่ายมือถือที่ชนะการประมูลครั้งที่แล้วต่างต้องแบกภาระค่าคลื่นทั้ง 1800 MHz และ 900 MHz และที่ผ่านมามีการขอผ่อนผันให้ คสช. ขยายงวดชำระเงิน สะท้อนให้เห็นถึงปัญหากำลังซื้อ
และต่อให้มองข้ามเรื่องกำลังซื้อ ก็ยังมีประเด็นว่าจำเป็นจะต้องเข้ามาซื้อในขณะนี้ไหม หรือจะรอสินค้าชิ้นใหม่ที่น่าสนใจกว่า ซึ่งก็คือคลื่น 700 MHz ที่สำนักงาน กสทช. และรองนายกรัฐมนตรีประกาศว่าจะจัดประมูลในปี 2563 เพราะเป็นคลื่นที่ตอบโจทย์เรื่องความครอบคลุม ทำให้ประหยัดต้นทุนในการตั้งสถานีฐาน
ยิ่งมีคลื่น 1800 MHz ในมือแล้ว ควรเลือกประมูล 1800 MHz ที่มีราคาแพง หรือประมูล 700 MHz ที่ไม่เคยมีราคาชนะประมูลเดิมค้ำคออยู่และมีรัศมีทำการที่กว้างกว่า วิญญูชนก็คงตอบได้ไม่ยากกว่าควรจะเลือกคลื่นไหน
ในส่วนค่ายที่จะหมดสัมปทาน ซึ่งเดิมใช้งานคลื่น 1800 MHz อยู่ 45 MHz หากมาประมูลจะต้องจ่ายแพง และจะได้คลื่นไม่เกิน 15 MHz แต่ถ้าไม่มีใครประมูล ค่ายนี้ก็จะเข้าสู่มาตรการเยียวยา สามารถใช้คลื่นทั้ง 45 MHz ได้ต่อไปอีก 1 ปี โดยไม่ต้องเสียเงินแม้แต่บาทเดียว แล้วค่อยรอการประมูลที่จะจัดใหม่ในปีหน้า ซึ่งราคาคลื่นอย่างไรก็ต้องต่ำลง เพราะระยะเวลาอนุญาตจะลดลงไปตามเวลาที่ประมูลสำเร็จช้า เวลายิ่งลดลง ราคาคลื่นก็ยิ่งต่ำลง แม้หากเกิดอุบัติเหตุว่าวันที่ 15 มิถุนายน คู่แข่งมายื่นเอกสารการประมูล ก็ยังมีทางเลือกว่าจะมายื่นแข่งหลังจากนี้หรือไม่ เพราะเมื่อมีผู้ยื่นเอกสารรายเดียว กสทช. จะขยายเวลาออกไปอีก 30 วัน และต่อให้ไม่เข้าแข่งแล้วปล่อยให้รายอื่นได้คลื่นเพิ่มอีก 15 MHz รวมเป็น 30 MHz แล้วค่อยไปเจรจาขอโรมมิ่งคลื่น 1800 MHz จากค่ายนั้นก็อาจประหยัดกว่ามาสู้ราคากัน
ยิ่งไปกว่านั้น ค่ายที่จะหมดสัมปทาน 1800 MHz ก็สามารถต่อลมหายใจด้วยการใช้คลื่น 2300 MHz ของทีโอที ความจำเป็นที่จะต้องชิงคลื่นให้ได้จึงลดลงจากเดิม ดังนั้นการเดินหมากเข้าสู่มาตรการเยียวยาน่าจะได้ประโยชน์กับตัวเองมากกว่าการเข้าร่วมเล่นเกมซื้อของแพงให้เสมอหน้าเพื่อน...ตามที่ กสทช. กำหนดขึ้นมา