กรุงเทพฯ--18 มิ.ย.--นิด้าโพล
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "ความศรัทธาของประชาชนต่อองค์กรพระสงฆ์ ในสถานการณ์ปัจจุบัน" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 13 – 14 มิถุนายน 2561 กรณีศึกษาจากประชาชนที่นับถือศาสนาพุทธ กระจายทุกระดับการศึกษา อาชีพและรายได้ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความศรัทธาของประชาชนต่อองค์กรพระสงฆ์ ในสถานการณ์ปัจจุบัน การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็น จากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ "นิด้าโพล" ด้วยวิธีแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนด ค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับความโปร่งใสในการบริหารจัดการเงินในองค์กรพระสงฆ์ พบว่า ประชาชน ร้อยละ 7.04 ระบุว่า มีความโปร่งใสมาก ร้อยละ 18.24 ระบุว่า ค่อนข้างมีความโปร่งใส ร้อยละ 46.40 ระบุว่า ไม่ค่อยมีความโปร่งใส ร้อยละ 24.40 ระบุว่า ไม่มีความโปร่งใสเลย และร้อยละ 3.92 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ด้านความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการปฏิรูปองค์กรพระสงฆ์ (เช่น โครงสร้างการบริหารองค์กรพระสงฆ์, การปกครอง, การจัดการทรัพย์สินวัด, กฎระเบียบ, พระธรรมวินัย) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 85.28 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ จะได้มีรูปแบบที่ชัดเจน มีแนวทางในการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน และเพื่อช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรศาสนา รองลงมา ร้อยละ 12.96 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ การปกครองที่เป็นอยู่ตอนนี้ดีอยู่แล้ว ใช้มาเป็นระยะเวลานาน การปฏิรูปองค์กรพระสงฆ์อาจจะก่อให้เกิดความวุ่นวายได้ ขณะที่บางส่วนระบุว่า ปัญหาส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากองค์กรพระสงฆ์ แต่เกิดจากบุคลภายนอกมากกว่าและร้อยละ 1.76 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
เมื่อถามถึงความศรัทธาของประชาชนต่อองค์กรพระสงฆ์ จากกระแสข่าวการทุจริตในองค์กรพระสงฆ์ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 63.36 ระบุว่า มีความศรัทธาต่อองค์กรพระสงฆ์เท่าเดิม เพราะ ศรัทธาในหลักธรรมคำสอนไม่ได้ศรัทธาที่ตัวบุคคล ขณะที่บางส่วน ระบุว่า พระสงฆ์ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ก็มีอยู่เยอะ รองลงมา ร้อยละ 35.52 ระบุว่า มีความศรัทธาต่อองค์กรพระสงฆ์ลดลง เพราะ กระแสข่าว ที่เกิดขึ้นทำให้องค์กรพระสงฆ์เสื่อมลง ขาดความน่าเชื่อถือ ร้อยละ 0.48 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ไม่มีความศรัทธาต่อองค์กรพระสงฆ์เลย และร้อยละ 0.64 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงแนวทางในการป้องกันการทุจริตในองค์กรพระสงฆ์ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 45.76 ระบุว่า มีหน่วยงานควบคุมตรวจสอบการบริหารจัดการเงินวัด ร้อยละ 44.00 ระบุว่า ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ร้อยละ 35.68 ระบุว่า ให้ทุกวัด ทำบัญชีทรัพย์สิน รายรับ รายจ่าย ของวัดและเจ้าอาวาส ร้อยละ 21.20 ระบุว่า เพิ่มบทลงโทษที่รุนแรงแก่ผู้ที่กระทำผิด ร้อยละ 18.24 ระบุว่า แก้กฎหมายไม่ให้เจ้าอาวาสมีอำนาจสิทธิ์ขาด ในการบริหารเงิน ร้อยละ 13.28 ระบุว่า ปฏิรูปการบริหารงานในองค์กรพระสงฆ์ ยกเลิกชั้นยศ ร้อยละ 0.32 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ไม่สามารถป้องกันการทุจริตในองค์กรสงฆ์ได้ และร้อยละ 2.80 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 9.76 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 26.08 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.40 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 31.92 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 13.84 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 56.96 เป็นเพศชาย และร้อยละ 43.04 เป็นเพศหญิง ตัวอย่างร้อยละ 5.44 มีอายุ 18 – 25 ปี ตัวอย่างร้อยละ 16.00 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 21.68 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 35.04 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 21.28 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 0.56 ไม่ระบุอายุ ตัวอย่างร้อยละ 21.28 ระบุว่าสถานภาพโสด ร้อยละ 71.60 สมรสแล้ว ร้อยละ 4.16 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 2.96 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่างร้อยละ 26.88 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 28.96 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 7.60 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 26.72 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 6.16 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 3.68 ไม่ระบุการศึกษา
ตัวอย่างร้อยละ 12.80 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 12.64 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 20.24 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 15.28 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 15.84 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 17.12 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 2.32 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 3.76 ไม่ระบุอาชีพ ตัวอย่างร้อยละ 13.76 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 20.56 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 23.04 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 11.76 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 6.56 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 10.88 มีรายได้เฉลี่ย ต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 13.44 ไม่ระบุรายได้