กรุงเทพฯ--18 มิ.ย.--ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์
ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปตำรวจ ในเขตกรุงเทพมหานคร โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,117 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 4 - 6 มิถุนายน 2561 ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่าประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้ต้องการสะท้อนความคิดเห็นในเรื่องการปฏิรูปตำรวจตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ดำเนินการด้านการปฎิรูปตำรวจ โดยทางคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ เสนอประเด็นการเพิ่มค่าตอบแทนและสวัสดิการของข้าราชการตำรวจ และทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ดำเนินการการปฏิรูปตำรวจ การปฏิรูปในภาพรวม 6 ด้าน ประกอบด้วย ด้าน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การปฏิรูปด้านโครงสร้าง การให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในองค์กร ด้านการนำเทคโนโลยีมาใช้ และ ด้านการสอบสวนและการบังคับใช้กฎหมาย ความคิดเห็นของประชาชนต่อการปฏิรูปตำรวจ ในเขตกรุงเทพมหานคร โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อยากให้มีการปฏิรูปตำรวจในงานด้านจราจรมากที่สุด ร้อยละ 42.5 อันดับที่สองคืองานด้านการให้บริการประชาชน ร้อยละ 21.6 อันดับที่สามคืองานด้านสืบสวนสอบสวน ร้อยละ 18.4 และอันดับสุดท้ายคืองานด้านป้องกันปราบปราม ร้อยละ 17.5
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการปรับปรุงการปฏิบัติงานของสถานีตำรวจเป็นแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ one-stop service ร้อยละ 55.8 และเห็นด้วยที่จะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำกับดูแลแทนตำรวจในส่วนของการจราจร เช่นการอำนวยความสะดวกทางจราจร การกวดขันวินัยจราจร การบังคับใช้กฎหมายจราจร ร้อยละ 57.2
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะมีหลักเกณฑ์กติกาและกำกับการแต่งตั้ง โยกย้ายเลื่อนขั้นเงินเดือนตำรวจโดยใช้หลักอาวุโส 50% ผลงาน 30% และความพึงพอใจของประชาชน 20% ร้อยละ 50.9 และคิดว่าหลักเกณฑ์หลักเกณฑ์กติกาและกำกับการแต่งตั้ง โยกย้ายเลื่อนขั้นเงินเดือนตำรวจโดยใช้หลักอาวุโส 50% ผลงาน 30% และความพึงพอใจของประชาชน 20% จะทำให้การทำงานของข้าราชการตำรวจดีขึ้น ร้อยละ 50.7
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการปรับปรุงเงินเดือน ค่าตอบแทน และสวัสดิการของข้าราชการตำรวจ ร้อยละ 59.3 และคิดว่าการปรับปรุงเงินเดือน ค่าตอบแทน และสวัสดิการของข้าราชการตำรวจไม่มีผลต่อการทำให้การทำงานของข้าราชการตำรวจดีขึ้น ร้อยละ 61.7
คิดว่าการปฏิรูปตำรวจ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะไม่ประสบความสำเร็จ ร้อยละ 52.2 รองลงมาคือ ไม่แน่ใจ ร้อยละ 24.2 และคิดว่าจะประสบความสำเร็จ ร้อยละ 23.6