กรุงเทพฯ--18 มิ.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
- เอ็นไอเอ ปักหมุด ศูนย์ ABC Center สู่ศูนย์เมคโอเวอร์ สินค้าเกษตรไทยด้วยนวัตกรรม ชี้ 5 ข้อต้องเปลี่ยนรับ เกษตรกรรมไทยยุคใหม่
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA โดยศูนย์สร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมการเกษตร (Agro Business Creative Center: ABC Center) ร่วมกับวิทยาลัยปิโตรเลียม และปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกาศความร่วมมือการพัฒนาอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี่ สู่ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเป็นการสนับสนุนการดำเนินงานด้านการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศจากการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมการเกษตรและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง
ดร. สุภาพ อัจฉริยศรีพงศ์ กรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า "NIA ได้มุ่งพัฒนานวัตกรรมในภาคเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเร่งสร้างและยกระดับความสามารถด้านนวัตกรรมของกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมการเกษตรที่สร้างสรรค์และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาด้านการเกษตร ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดระบบนิเวศของการสร้างธุรกิจนวัตกรรมเกษตร โดย "ธุรกิจไบโอรีไฟเนอรี่" ถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรที่มีโอกาสเติบโตและหลายภาคส่วนให้ความสนใจ โดยเป็นการแปรรูปวัตถุดิบทางการเกษตรหรือของเหลือทิ้งจากการเกษตรด้วยกระบวนการทางเทคโนโลยีชีวภาพโดยใช้ จุลินทรีย์ แบคทีเรีย ยีสต์ เอ็นไซม์ หรืออื่นๆ ให้ทำหน้าที่เสมือนโรงงาน (cell factory) ให้ได้เป็นผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เช่น เชื้อเพลิงและพลังงาน ชีวเคมีภัณฑ์ อาหารสัตว์แห่งอนาคต อาหารแห่งอนาคต และชีวเภสัชภัณฑ์"
"ดังนั้น NIA โดย ABC Center จึงได้ร่วมกับวิทยาลัยปิโตรเลียม และปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาความเป็นเป็นไปได้ในการสร้างธุรกิจไบโอรีไฟเนอรี่ในอนาคตของประเทศไทย ในพืชเศรษฐกิจหลัก 3 ชนิด ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน ซึ่งหากประเทศไทยสามารถผลักดันและสนับสนุนให้เกิดการก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมในรูปแบบของBiorefinery Industry Complex ในลักษณะคลัสเตอร์อุตสาหกรรม พร้อมทั้งประกาศมาตรการสนับสนุนสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากภาครัฐ ตลอดจนการส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศของการสร้างธุรกิจนวัตกรรมเกษตรสาขาธุรกิจไบโอรีไฟเนอรี่อย่างจริงจังได้ จะเกิดผลดีทั้งในการช่วยกระตุ้นการลงทุนขนาดใหญ่ในกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปชีวมวล พร้อมขับเคลื่อนให้ไทยเป็นผู้นำของธุรกิจดังกล่าวได้ในภูมิภาค และยังจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบทางการเกษตรของประเทศได้อีกไม่ต่ำกว่า 10 เท่า โดยเฉพาะมันสำปะหลัง และอ้อย ที่ไทยส่งออกเป็นอันดับที่ 1 และ 2 ของโลก"
ด้าน ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)กล่าวว่า "การจัดตั้งศูนย์ ABC Center มีเป้าหมายในการปรับเปลี่ยน "เกษตรแบบดั้งเดิม" ไปสู่ "เกษตรอุตสาหกรรม" และก้าวไปสู่ "เกษตรบริการหรือธุรกิจเกษตร" ที่มีการใช้นวัตกรรมเป็นหลักในการขับเคลื่อน โดยมุ่งสร้างรูปแบบธุรกิจนวัตกรรมการเกษตรใน 7 สาขา ได้แก่ 1) ธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ 2) ธุรกิจเกษตรดิจิทัล 3) ธุรกิจเครื่องจักรกลเกษตร หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ 4) ธุรกิจการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวและการขนส่ง 5) ธุรกิจไบโอรีไฟเนอรี่ 6) ธุรกิจการบริการทางธุรกิจเกษตร และ 7) ธุรกิจรูปแบบการจัดการฟาร์มแบบใหม่ อย่างไรก็ตาม ในปี 2561 นี้ NIA ยังได้ตั้งเป้าหมายที่จะใช้ ABC centerในการพลิกโฉมด้านการเกษตร (Agriculture Transformation) ของประเทศไทย รวมถึงเพื่อให้ตอบโจทย์กับธุรกิจไบโอรีไฟเนอรี่ 5 ด้าน ได้แก่
- ด้านเทคโนโลยี - เปลี่ยนจากเกษตรที่ใช้แรงงาน พึ่งพาฤดูกาล ไม่สามารถคาดการณ์ผลผลิตได้ เป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อควบคุม ตรวจสอบคุณภาพ ปรับปรุงระบบเกษตรให้แม่นยำ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- ด้านเศรษฐกิจ - เปลี่ยนจากเกษตรที่ต้องพึ่งพาพ่อค้าคนกลางในการผลิตและการขาย เป็นเกษตรที่เกิดรายได้ในตัวเอง
- ด้านการวางตำแหน่ง – เปลี่ยนจากการเป็นผู้ตามทางการเกษตร ให้เป็นผู้นำทางการเกษตร โดยอาศัยความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ผนวกกับความหลากหลายในด้านการเกษตร
- ด้านสิ่งแวดล้อม – เปลี่ยนจากการใช้ทรัพยากรที่หลากหลายอย่างฟุ่มเฟือยและไม่คุ้มค่า ให้มีการสร้างรูปแบบธุรกิจการเกษตรสมัยใหม่ที่มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าขึ้น เช่น การเพาะปลูกในระบบปิดที่ประหยัดน้ำมากกว่าร้อยละ 90
- ด้านการตลาด – เปลี่ยนจากตลาดการเกษตรแบบเฉพาะกลุ่ม (ทุนขนาดใหญ่) มาสู่ตลาดที่กระจายแบบเท่าเทียมกัน"
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า "ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีพื้นฐานด้านเกษตรกรรม จึงจำเป็นต้องยกระดับการเกษตรสู่เกษตรสมัยใหม่ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนพัฒนาอุตสาหกรรม วิจัย และนวัตกรรม อันจะนำไปสู่การยกระดับการเกษตร และคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ซึ่งเป็นผู้นำทางด้านวิชาการ ความรู้ทางนวัตกรรม และมีประสบการณ์โดยเน้นหนักทางด้านเทคโนโลยีปิโตรเลียม เทคโนโลยีปิโตรเคมี และพอลิเมอร์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว และตระหนักถึงการลดลงของพลังงานฟอสซิลซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของโลกที่มากขึ้น จึงเป็นโอกาสอันดีที่วิทยาลัยฯ จะมีบูรณาการองค์ความรู้ต่างๆ ที่ผ่านมาเพื่อเปลี่ยนภาพจากโรงกลั่นน้ำมันไปสู่ไบโอรีไฟเนอรี่รวมถึงการการศึกษาแนวโน้ม ทิศทาง และความเป็นไปได้ในการพัฒนาเพื่อการบ่งชี้แนวโน้มและทิศทางการพัฒนาธุรกิจไบโอรีไฟเนอรี่ในอนาคตของประเทศไทย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมการเกษตรและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องไปสู่เศรษฐกิจฐานชีวภาพอย่างยั่งยืน"
ศาสตราจารย์ ดร. สุวบุญ จิรชาญชัย คณบดีวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า "เศรษฐกิจฐานชีวภาพจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งหัวใจหลักคือ กระบวนการการแปรรูปทรัพยากรหมุนเวียนชีวภาพและชีวมวลให้กลายเป็นสารผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายคล้ายกับระบบโรงกลั่นปิโตรเคมี โดยการสกัดเอาองค์ประกอบเคมีทุกชนิดในชีวมวลมาใช้ประโยชน์อย่างครบถ้วนหรือเรียกว่า "ไบโอรีไฟเนอรี่ (biorefinery)" ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้จากไบโอรีไฟเนอรี่ สามารถจำแนกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ1) ชีวเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพ 2) พลังงานชีวภาพ และ 3) ผลิตภัณฑ์พลอยได้สำหรับอาหาร/อาหารสัตว์"
"ประเทศไทยมีความได้เปรียบทางด้านวัตถุดิบและความหลากหลายทางชีวภาพ ดังนั้น เมื่อนำความรู้ทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการผลิต จะสามารถสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพที่มากกว่ากว่ามูลค่าจากการส่งออกสินค้าการเกษตรเกือบ 2 เท่า ทั้งนี้ ในการผลักดันธุรกิจไบโอรีไฟเนอรี่จำเป็นต้องมีการลดข้อจำกัดทางด้านกฎหมายและพรบ. การเชื่อมโยงระหว่างภาคการศึกษาและอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมรวมถึงการขยายผล การส่งเสริมด้านการตลาดโดยเฉพาะในตลาดโลก เช่น ส่งเสริมให้ใช้ผลิตภัณฑ์ทางชีวภาพในผลิตภัณฑ์ใช้แล้วทิ้ง การกำหนดมาตรฐานพร้อมทั้งรับรองและตรวจสอบผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และการปลูกจิตสำนึกให้ตระหนักถึงความสำคัญของผลิตภัณฑ์ทางชีวภาพ ซึ่งจะเห็นได้ว่าปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อธุรกิจไบโอรีไฟเนอรี่ คือ การบูรณาการและการร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยวิทยาลัยฯ และNIA จะร่วมกันศึกษาเพื่อกำหนดทิศทาง แนวโน้มในอนาคต และนโยบายการสนับสนุนที่สำคัญของการพัฒนาธุรกิจไบโอรีไฟเนอรี่ของประเทศไทย พร้อมระบุปัญหาและความท้าทายของพัฒนาธุรกิจไบโอรีไฟเนอรี่ รวมไปถึงทิศทางการพัฒนาธุรกิจไบโอรีไฟเนอรี่ให้ตรงกับบริบทของประเทศไทย เพื่อนำไปใช้เป็นแผนที่นำทางในการพัฒนาธุรกิจไบโอรีไฟเนอรี่ของประเทศต่อไป"
สำหรับผู้ประกอบการ หรือผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-0175555 เว็บไซต์www.nia.or.th หรือ facebook.com/niathailand