กรุงเทพฯ--18 มิ.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เร่งผลักดันนิคมฯ ทั่วประเทศให้เข้าสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยในปีนี้ ได้เตรียมผลักดันนิคมฯ ให้เข้าสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระดับ Eco-Champion เพิ่มเติม 4 แห่ง ระดับ Eco-excellence 3 แห่ง และภายใน ปี 2564 จะผลักดัน 2 นิคมฯ ได้แก่ นิคมฯอาร์ไอแอล และนิคมฯ หนองแค ให้มีการยกระดับสู่ Eco-World Class รวมถึงผลักดันนิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เปิดประกอบการอุตสาหกรรมแล้ว พัฒนาสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในระดับ Eco-Champion อย่างทั่วถึง 100 % นอกจากนี้ ยังจะเร่งส่งเสริมนิคมอุตสาหกรรมในแถบอีอีซีให้เป็นมิตรกับสังคมและสิ่งแวดล้อมในระดับที่เข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะในด้านการควบคุมมลพิษ การลดปริมาณกากของเสียและข้อร้องเรียน พร้อมทั้งผลักดันให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการอยู่ร่วมกัน โดยเริ่มตั้งแต่การจัดตั้งนิคมฯ จนถึงการตรวจสอบสถานประกอบการ
นายอัฐพล จิรวัฒน์จรรยา รักษาการผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กนอ.ได้มุ่งผลักดันสถานประกอบการ และนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศให้ร่วมกันยกระดับนิคมฯ สู่ "เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ" ซึ่งเป็นแนวคิดการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนในด้านคุณภาพชีวิต ชุมชน สิ่งแวดล้อม และสร้างความเจริญเติบโตให้แก่เศรษฐกิจของประเทศ โดยกำหนดพื้นที่เพื่อการยกระดับนโยบายดังกล่าวไว้ 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มพื้นที่อีอีซี กลุ่มจังหวัดที่มีอุตสาหกรรมหนาแน่น และกลุ่มจังหวัดที่มีศักยภาพการพัฒนาอุตสาหกรรม พร้อมจัดทำหลักเกณฑ์เพื่อพัฒนาและยกระดับนิคมอุตสาหกรรมเข้าสู่แผนข้างต้นไว้ 3 ระดับ คือ 1) ระดับ Eco-Champion หรือ นิคมฯที่มีการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบ 2) ระดับ Eco-excellence ซึ่งเป็นนิคมฯ ระดับประเทศที่มุ่งสู่การยกระดับและการสร้างเครือข่ายในการพัฒนาอุตสาหกรรมและคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่โดยรอบ และ 3) ระดับEco-World Class นิคมฯ ระดับสากล ที่สามารถเป็นผู้นำการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศและเป็นที่พึ่งของชุมชนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุณภาพสิ่งแวดล้อม
นายอัฐพล กล่าวต่อว่า สำหรับในปัจจุบัน มีนิคมอุตสาหกรรม ที่ผ่านเกณฑ์เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศระดับ Eco-Champion แล้วจำนวน 22 แห่ง และ ระดับ Eco-excellence จำนวน 1 แห่ง คือนิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล ส่วนเป้าหมายในปี 2561 นี้ กนอ.ได้เตรียมผลักดันนิคมฯ ให้เข้าสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระดับ Eco-Champion เพิ่มเติมอีก 4 แห่ง คือ นิคมฯ เหมราชชลบุรี นิคมฯเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด นิคมฯปิ่นทอง โครงการที่ 5 และนิคมฯแก่งคอย ระดับ Eco-excellence เพิ่มเติมอีก 3 แห่ง คือท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมฯ หนองแค และนิคมฯ อมตะซิตี้ นอกจากนี้ ภายใน ปี 2564 ยังได้ตั้งเป้าผลักดัน 2 นิคมฯ ได้แก่ นิคมฯอาร์ไอแอล และนิคมฯ หนองแค ให้มีการยกระดับสู่ความเป็น Eco-World Class รวมถึงผลักดันนิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เปิดประกอบการอุตสาหกรรมแล้วพัฒนาสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในระดับ Eco-Champion อย่างทั่วถึง 100 % โดยมุ่งหวังในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี และความเชื่อมั่นในการกระตุ้นการลงทุนเพิ่มขึ้น ตลอดจนช่วยให้ประชาชนโดยรอบมีความพึงพอใจต่อคุณภาพชีวิตในระดับที่เป็นไปตามมาตรฐานของประเทศและระดับสากล
นายอัฐพล ยังได้กล่าวถึงการเติบโตของเศรษฐกิจและการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจในปี 2561 อีกว่า กนอ.จะรุกส่งเสริมและพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในแถบอีอีซีให้เป็นมิตรกับสังคมและสิ่งแวดล้อม พร้อมส่งเสริมให้มีการพัฒนากระบวนการผลิตและยกระดับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวให้เข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะในด้านการควบคุมมลพิษ การลดต้นทุนวัตถุดิบ พลังงาน กากของเสีย ลดการร้องเรียน และการลดอุบัติภัย เพื่อให้คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมของคนในชุมชนที่อาศัยใกล้กับแหล่งอุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเกื้อกูล นอกจากนี้ ยังได้พยายามผลักดันให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการอยู่ร่วมกัน โดยเริ่มตั้งแต่การจัดตั้งนิคมฯ การตรวจสอบสถานประกอบการ รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการทำแผนป้องกันภัยในกรณีฉุกเฉิน เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้อย่างครอบคลุมทุกมิติ
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจรายละเอียด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองประชาสัมพันธ์ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ถนนนิคมมักกะสัน กรุงเทพฯ โทร. 02 2530561 หรืออีเมล investment.1@ieat.mail.go.th