กรุงเทพฯ--18 มิ.ย.--ปตท.
ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์ผันผวน โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 0.27 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 75.69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 0.87 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 66.21 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 0.19 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 74.22 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 0.76 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 84.77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ดีราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลไม่เปลี่ยนแปลงจากสัปดาห์ก่อน
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- ความสำเร็จในการประชุมสุดยอดระหว่างสหรัฐฯและเกาหลีเหนือที่สิงคโปร์ในวันที่ 12 มิ.ย. 61 ซึ่งผู้นำทั้งสองประเทศลงนามในเอกสารตกลงที่มีใจความหลักว่า ทั้งสองฝ่ายให้คำมั่นว่าจะร่วมกันสร้างสันติภาพ สหรัฐฯ จะไม่โจมตีเกาหลีเหนือด้วยอาวุธนิวเคลียร์ หรือ การคุกคามในรูปแบบอื่น ขณะที่เกาหลีเหนือจะเดินหน้ากระบวนการปลดอาวุธนิวเคลียร์ ลดความเสี่ยงจากปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ในคาบสมุทรเกาหลีลง
- วันที่ 12-13 มิ.ย. 61 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (Federal Open Market Committee: FOMC) มีมติขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25 % อยู่ที่ 1.75% - 2% เพิ่มขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ของปีนี้ และคาดว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อยอีก 2 ครั้ง รวมทั้งหมด 4 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2561 และในปี พ.ศ. 2562 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3 ครั้ง
- International Energy Agency (IEA) ปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตของอุปสงค์น้ำมันดิบโลกในปี พ.ศ. 2561 อยู่ที่ 1.36 ล้านบาร์เรลต่อวัน (คาดการณ์ครั้งก่อนอยู่ที่ 1.44 ล้านบาร์เรลต่อวัน) และในปี พ.ศ. 2562 อยู่ที่ 1.43 ล้านบาร์เรลต่อวัน (คาดการณ์ครั้งก่อนอยู่ที่ 1.73 ล้านบาร์เรลต่อวัน)
- Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 มิ.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 100,000บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 10.90 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- Baker Hughes Inc. บริษัทลูกของ General Electric Co. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ (Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 15 มิ.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1 แท่น มาอยู่ที่ 863 แท่น เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 4 สัปดาห์
- Commodity Futures Trading Commission (CFTC) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุด 12 มิ.ย. 61 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับ Net Long Position ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 2,117 สัญญา อยู่ที่ 350,022 สัญญา
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- National Oil Corp. (NOC) ของลิเบียประกาศเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) ท่าส่งออกน้ำมัน Es Sider (กำลังการกลั่น 350,000 บาร์เรลต่อวัน ) และ Ras Lanuf (กำลังการกลั่น 200,000 บาร์เรลต่อวัน ) เนื่องจากเกิดการต่อสู้กันระหว่างกองกำลัง Libya National Army (LNA) กับ Benghazi Defense Brigades (BDB) ซึ่งต้องการแย่งชิงการเป็นผู้ดำเนินงานท่าส่งออก
- Reuters รายงานไนจีเรียมีแผนส่งออกน้ำมันดิบ เดือน ก.ค. 61 ลดลง 370,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 1.43 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากการส่งมอบน้ำมันดิบBonny Light ยังอยู่ภายใต้ประกาศเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) จากเหตุท่อขนส่งน้ำมันรั่ว
- InterContinental Exchange (ICE) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ Brent ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุด 12 มิ.ย. 61 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 17,757 สัญญา อยู่ที่ 455,943 สัญญา
แนวโน้มราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมันดิบปิดตลาดปรับลดลงจากข่าวรัฐมนตรีพลังงานรัสเซีย นาย Alexander Novak และรัฐมนตรีพลังงานซาอุดิอาระเบีย นาย Khalid al-Falihระบุว่าในการประชุมกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน ในวันที่ 22-23 มิ.ย. 61 อาจจะพิจารณาเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในไตรมาส 3/61 และร่วมหารือแนวโน้มตลาดน้ำมันโลก เพื่อหามาตรการที่เหมาะสมสำหรับรักษาตลาดน้ำมันให้อยู่ในภาวะสมดุล อนึ่งแรงกดดันต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก จาก Trade War มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเพราะสหรัฐฯ เดินหน้าเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงจากจีนซึ่งสินค้าส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์จากโครงการ Made in China 2025หรือ Industry 4.0 ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ของจีนที่มุ่งพัฒนาประเทศเปลี่ยนรูปแบบการผลิตจากเน้นปริมาณสู่การผลิตที่เน้นคุณภาพใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในการผลิตภายในปี ค.ศ. 2025 ที่จะเป็นพื้นฐานยกระดับจีนเป็นประเทศพัฒนาแล้วต่อไป การเก็บภาษีของสหรัฐฯ ครั้งนี้มุ่งเป้าบั่นทอน และสกัดกั้นการพัฒนาประเทศของจีนไม่ให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ที่กำหนด อนึ่งจีนอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะเก็บภาษีนำเข้าน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ ( EIA รายงานสหรัฐฯ ส่งออกน้ำมันดิบสู่จีน ในเดือน มี.ค. 61 อยู่ที่ 380,000 บาร์เรลต่อวัน คิดเป็น 23% ของปริมาณส่งออกรวม) อย่างไรก็ดีการสู้รบแย่งชิงอำนาจในลิเบียปะทุขึ้นอีกครั้งและสร้างความเสียหายแก่ท่าส่งออก Ras Lanuf (ปริมาณส่งออก 200,000 บาร์เรลต่อวัน) ทำให้คลังน้ำมันที่ท่าดังกล่าวเก็บน้ำมันดิบได้เพียง 550,000 บาร์เรล จาก 950,000 บาร์เรล ขณะที่การส่งออกน้ำมันต้องหยุดดำเนินการชั่วคราว (Force Majeure) ให้ติดตามดุลบัญชีเดินสะพัดของสหภาพยุโรป เดือน เม.ย. 61 และถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันพรุ่งนี้ ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 72.0-76.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบNYMEX WTI อยู่ในกรอบ 63.0-67.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 70.0-74.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงจากสำนักงานสถิติแห่งชาติมาเลเซียรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันเบนซิน เดือน เม.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 15.5%มาอยู่ที่ 136,600 บาร์เรลต่อวัน และ JLC ของจีนรายงานกลุ่มโรงกลั่นอิสระที่ตั้งอยู่ในมณฑล Shandong (กำลังการกลั่นรวม 3.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน) มีอัตราการกลั่น ในเดือน พ.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากเดือน ก่อน 1.0% อยู่ที่ 62.5% เพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน อย่างไรก็ตาม Petroleum Planning and Analysis Cell (PPAC) ของอินเดียรายงานยอดขายน้ำมันเบนซินภายในประเทศ เดือน พ.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 2.0 % อยู่ที่ 675,000 บาร์เรลต่อวัน และ EIA รายงานอุปสงค์น้ำมันเบนซินของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 มิ.ย. 61 อยู่ที่ระดับ 9.88 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ด้านปริมาณสำรอง EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 มิ.ย. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 2.2 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 236.8 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 13 มิ.ย. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.37 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 12.63ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 1 เดือนครึ่ง ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 81.0-86.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์ไม่เปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ดีราคาน้ำมันดีเซลถูกกดดันจากโรงกลั่น Vadinar (กำลังการกลั่น 400,000 บาร์เรลต่อวัน ) ของบริษัท Nayara Energy (ชื่อเดิม Essar Oil) ออกประมูลขายน้ำมันดีเซลปริมาณ 485,000-525,000บาร์เรล ส่งมอบ 3-7 ก.ค. 61 และ และ IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 13 มิ.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.29 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 9 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 2 เดือน อนึ่งราคาน้ำมันยังได้รับแรงหนุนจาก Arbitrage น้ำมันดีเซลจากเอเชียไปสหรัฐฯ เปิด โดยบริษัท China National Petroleum Corp. (CNPC) ของจีนส่งออกน้ำมันดีเซล ปริมาณ 450,000 บาร์เรล ไปยังบราซิล ต้นเดือน มิ.ย. 61 และ Petroleum Planning and Analysis Cell (PPAC)ของอินเดียรายงานยอดขายน้ำมันดีเซลภายในประเทศ เดือน พ.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 5.4% อยู่ที่ 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันดีเซลแข็งแกร่ง จากการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล ขณะที่เกษตรกรใช้น้ำมันดีเซลสำหรับสูบน้ำเข้าสู่พื้นที่เพาะปลูก ทั้งนี้ในปี พ.ศ.2560 อินเดียใช้น้ำมันดีเซลเฉลี่ยเดือนละ 1.64 ล้านบาร์เรลต่อวัน และช่วงครึ่งแรกปีนี้ใช้เดือนละ 1.69 ล้านบาร์เรลต่อวัน ด้านปริมาณสำรอง EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 มิ.ย. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 2.1 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 114.7 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 84.0-89.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล