กรุงเทพฯ--4 ธ.ค.--ปภ.
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 4 ประจวบคีรีขันธ์ ร่วมกับจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดซ้อมแผนระบบเตือนภัยและอพยพผู้ประสบภัย จากอุทกภัย ประจำปี 2551 บริเวณบ้านคลองลอย หมู่ที่ 8 ตำบลร่อนทอง อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเตรียมความพร้อม ให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยมีความรู้เกี่ยวกับระบบเตือนภัย และสามารถช่วยเหลือตนเองได้อย่างปลอดภัยเมื่อเกิดภัย และเจ้าหน้าที่มีความพร้อม ในการปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ
นายอรรณพ เพ็ชรวิเศษ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 4 ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ในช่วงฤดูมรสุม จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มักประสบปัญหาอุทกภัยเป็นประจำทุกปี ประกอบกับมูลนิธิอาสา “เพื่อนพึ่งภา” ยามยาก สภากาชาดไทย ได้สนับสนุนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในการแก้ไขปัญหาอุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม ในพื้นที่อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยได้ติดตั้งระบบ เตือนภัยสถานีตรวจอากาศอัตโนมัติ หอเตือนภัย หอกระจายข่าวฯลฯ ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้ประชาชนเกิดการเรียนรู้ระบบเตือนภัย การอพยพหนีภัย ที่ถูกต้องรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 4 ประจวบคีรีขันธ์ จึงได้ร่วมกับจังหวัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฝึกซ้อมแผนระบบเตือนภัยและอพยพผู้ประสบภัยจากอุทกภัย ประจำปี 2551 บริเวณ บ้านคลองลอย หมู่ที่ 8 ตำบลร่อนทอง อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยได้จัดประชุมซักซ้อม เตรียมความพร้อมในการฝึกซ้อมแผน การประสานการปฏิบัติ เมื่อเกิดภัยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการฝึกภาคปฏิบัติ โดยการจำลองสถานการณ์เกิดอุทกภัย และขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การสื่อสารและรับแจ้งเหตุ การอพยพ ผู้ประสบภัย และการช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งมีประชาชนในพื้นที่
เสี่ยงภัย หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มูลนิธิ อาสาสมัครตำบลร่อนทอง อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เข้าร่วมการฝึกซ้อมแผน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้ระบบเตือนภัย ป้องกันภัย และการช่วยเหลือตนเองได้อย่างปลอดภัยเมื่อเกิดภัย อีกทั้งเป็นการซักซ้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีความพร้อมในการรับ ข่าวสาร การแจ้งเตือนภัย การประชาสัมพันธ์ การให้ความช่วยเหลือ และการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเพิ่มพูนความรู้ทักษะ ให้เจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติภารกิจในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่าง ถูกต้อง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้ประชาชนในพื้นที่มีความ
เชื่อมั่นและมั่นใจในระบบความปลอดภัย อันจะช่วยลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้ในระดับหนึ่ง