กรุงเทพฯ--19 มิ.ย.--market-comms
"ทุกสิ่งในโลกนี้ล้วนเป็นพิษ ไม่มีสิ่งใดที่ไม่เป็นพิษ ขนาดหรือปริมาณที่ได้รับเท่านั้นจะเป็นตัวแบ่งแยกของความเป็นพิษกับความเป็นยา" พาราเซลชัส บิดาแห่งพิษวิทยา ได้กล่าวไว้ และเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาเกี่ยวกับผลของสารพิษที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาและชีววิทยาของสิ่งมีชีวิต อาการพิษ กลไกการเกิดพิษ วิธีการรักษา และการตรวจสอบความเป็นพิษของสาร ส่งผลต่อการพัฒนาในวงการแพทย์ เภสัชกรรม และวิทยาศาสตร์
สำหรับประเทศไทย สมาคมพิษวิทยาแห่งประเทศไทย เป็นหนึ่งในองค์กรชั้นนำและเป็นที่ยอมรับในระดับโลก มีบทบาทสำคัญในการรวบรวมผลวิจัยและการศึกษาล่าสุดด้านพิษวิทยามาเผยแพร่ แลกเปลี่ยน ประสานงานกับองค์กรในระดับประเทศและสากล เพื่อส่งเสริมให้มีมาตรฐานความปลอดภัยจากสารพิษ และความเป็นพิษ และในปีนี้ พ.ศ. 2561 สมาคมพิษวิทยาแห่งประเทศไทย เป็นเจ้าภาพการจัดงานประชุมนานาชาติสมาคมพิษวิทยาแห่งเอเชียครั้งที่ 8 (เอเชียท็อกซ์ 2018) หรือ The 8th International Congress of Asian Society of Toxicology (ASIATOX 2018) ภายใต้การสนับสนุนและความร่วมมือจากบริษัท ซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น จำกัด หรือ ซินเจนทา
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธานกล่าวเปิดงานครั้งนี้ว่า "พิษวิทยา เป็นวิทยาศาสตร์เชิงสหวิทยาการที่ต้องใช้องค์ความรู้หลายหลายและรอบด้านเข้ามาปรับใช้ทั้งวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐานและวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ โดยองค์ความรู้ด้านพิษวิทยา จะนำมาใช้ประกอบการพิจารณาขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ การบริหารจัดการ ควบคุมการใช้ ประเมินความเสี่ยงจากการประกอบอาชีพ ทั้งนี้ ความก้าวหน้าด้านพิษวิทยา จะช่วยปกป้องสุขภาพและลดภาวะความเจ็บป่วยของประชาชนลงได้"
งานประชุมนานาชาติสมาคมพิษวิทยาแห่งเอเชียครั้งที่ 8 ต้อนรับนักวิทยาศาสตร์และนักพิษวิทยาจากทั่วโลก เดินทางมาประชุมในประเทศไทยมากกว่า 2,000 ราย เพื่อนำเสนอแนวคิด ผลการศึกษาวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยีล่าสุดด้านพิษวิทยา นำไปสู่การพัฒนาด้านต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ และประชากรโลก โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-20 มิถุนายนที่ผ่านมา ณ โรงแรมรอยัลคลิฟแกรนด์ พัทยา จังหวัดชลบุรี
ด้านผู้สนับสนุนการจัดงาน นางสาววัชรีภรณ์ พันธุ์ภูมิพฤกษ์ ผู้จัดการฝ่ายรัฐกิจดูแลผลิตภัณฑ์ บริษัท ซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น จำกัด หรือ ซินเจนทา เปิดเผยว่า ""พิษวิทยา มีบทบาทสำคัญในทุกขั้นตอนของการประเมินความสี่ยง (Risk Assessment) เช่น สารเคมีทางการเกษตร ซึ่งเป็นเทคโนโลยีปัจจัยการผลิตของเกษตรกร จะถูกทำการทดสอบอย่างมีระบบทั้งด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ทำให้ประเมินระดับความเสี่ยงและประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ได้ โดยการใช้มาตรฐานทางวิทยาศาสตร์ระดับสูง ซินเจนทาได้ผนวกความเชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์ มุ่งมั่นเพื่อคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ในการช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อเพิ่มศักยภาพในระบบการผลิตและเพิ่มอาหารให้เพียงพอกับประชากรโลก"
ขณะเดียวกัน ดร.เบญจรงค์ วังคะฮาด ผู้จัดการส่วนดูแลผลิตภัณฑ์ ซินเจนทา ประจำประเทศไทยและเมียนมา กล่าวเสริมว่า "พิษวิทยา คือ พื้นฐานที่จะทำให้เกิดความมั่นใจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างความยั่งยืน ซินเจนทา สามารถช่วยสร้างความสมดุลระห่างการเพิ่มผลผลิตของเกษตรกรให้ดีขึ้นควบคู่ไปกับการดูแลเกษตรกร ให้ความรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงจากสารเคมีเกษตร สร้างความเข้าใจเรื่องสุขอนามัยที่ดี การใช้สารเคมีอย่างถูกต้อง ลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เป็นการสร้างความยั่งยืนต่อภาคการเกษตรต่อไป"
"การสนับสนุนงานประชุมนานาชาติสมาคมพิษวิทยาแห่งเอเชียครั้งที่ 8 เป็นการดำเนินงานภายใต้แผนรณรงค์ระดับโลกของกลุ่มบริษัทซินเจนทา ที่เรียกว่า Good Growth Plan หรือ แผนการเติบโตเชิงบวก ดำเนินการระหว่างปี พ.ศ. 2558-2563 ซึ่งต้องการพัฒนาด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยให้เกิดขึ้นแก่เกษตรกรในฐานะผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ โดยนำแนวคิดและหลักการที่ทันสมัยจากการประชุมฯ มาประยุกต์และให้ความรู้แก่เกษตรกรให้สามารถเข้าใจได้ง่าย ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะด้านการปฏิบัติและใช้ผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์และเครื่องมือในการเกษตรอย่างถูกต้อง สามารถความมั่นใจได้ว่า เกษตรกร จะไม่ได้รับผลกระทบในระยะยาว โดยตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ซินเจนทาได้แบ่งปันความรู้และอบรมเชิงปฏิบัติให้แก่เกษตรไทยและทั่วโลกแล้วกว่า 25.5 ล้านราย เกินจากที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ 20 ล้านราย อย่างไรก็ตาม ซินเจนทา จะยังคงมุ่งมั่นดำเนินงานต่อไป คาดว่าเมื่อครบกำหนดในปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020) จะมีเกษตรกรได้รับความช่วยเหลือผ่านโครงการนี้ถึง 30 ล้านรายทั่วโลก และมีผลผลิตเติบโตอย่างยั่งยืน" นางสาววัรชรีภรณ์ กล่าวสรุป