กรุงเทพฯ--19 มิ.ย.--มหาวิทยาลัยศรีปทุม
เด็กฟิล์ม คณะนิเทศศาสตร์ ม.ศรีปทุม เปิดประสบการณ์การเรียนรู้การถ่ายภาพ ด้วยการเข้าร่วมประกวดถ่ายภาพ หัวข้อ "บ้านเมืองของเรา" ครั้งที่ 12 พร้อมกวาดรางวัลชมเชย 7 รางวัล จากการเข้าร่วมการประกวด แนวภาพ : ความทรงจำที่อาจเลือนหาย บ้านเรือน วิถีชีวิต วัฒนธรรม งานหัตถกรรม ซึ่งจัดโดยสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยฯ มูลนิธิฌอง เอมีล การ์โรซ และ พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพฯ
อาจารย์ธีระพันธ์ ชนาพรรณ หัวหน้าสาขาวิชาภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษา นำทีมนักศึกษาสาขาภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล และ สาขาวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ชั้นปีที่ 1 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม คว้ารางวัลชมเชย 7 ราวัล จากการเข้าร่วมประกวด ภาพถ่าย "บ้านเมืองของเรา" ครั้งที่ 12 แนวภาพ : ความทรงจำที่อาจเลือนหาย บ้านเรือน วิถีชีวิต วัฒนธรรม งานหัตถกรรม รับประกาศนียบัตรพร้อมเงินรางวัล ทีมละ 2,000 บาท จัดโดย สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยฯ มูลนิธิฌอง เอมีล การ์โรซ และ พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพฯ ภาควิชาเทคโนโลยีทางภาพและการพิมพ์ ณ พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพฯ ชั้น 6 คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเร็วๆนี้
อาจารย์ธีระพันธ์ ชนาพรรณ เล่าว่า การจัดโครงการประกวดและจัดนิทรรศการภาพถ่ายหัวข้อ "บ้านเมืองของเรา" สำหรับ นักเรียน นิสิต นักศึกษา ก็เนื่องมาจาก นาย ฌอง เอมีล การ์โรซ เป็นชาวสวิส ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการทั่วไปขององค์การอาหารและเกษตร แห่งสหประชาชาติ หรือ FAO เป็นผู้ที่รักการถ่ายภาพ ดนตรีและรักเมืองไทยมาก ใช้เวลาว่างถ่ายภาพชีวิตชาวกรุงเทพฯ แล้วรวบรวมพิมพ์เป็นหนังสือ ที่มีชื่อว่า"FACES OF BANGKOK"และ"THE FASCINATION OF BANGKOK"
แต่หลังจากที่นายการ์โรซได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคหัวใจเมื่อ พ.ศ.2528 แล้ว ปรากฏว่าพินัยกรรมของเขาได้ระบุไว้ว่าให้มอบทรัพย์สินของเขารวมทั้งส่วนที่มีอยู่ในประเทศไทย ให้ดำ เนินการส่งเสริมสนับสนุนเยาวชนไทยให้พัฒนาศักยภาพด้านศิลปะการถ่ายรูปและดนตรีคลาสสิก ซึ่งเป็นศิลปะสองด้านที่เขาชื่นชอบและมีความสามารถเป็นพิเศษ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้วายชนม์ ผู้จัดการมรดกของนายการ์โรซจึงได้ติดต่อมาทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้รับภาระจัดตั้งมูลนิธิขึ้น จดทะเบียนมูลนิธิ ฌอง เอมีล การ์โรซเพื่อการศึกษาศิลปะการถ่ายรูปและการดนตรีขึ้น
โดยมีศาสตราจารย์ดร.เกษม สุวรรณกุล เป็นประธานมูลนิธิคนแรก และอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นประธานมูลนิธิโดยตำแหน่งในด้านการสนับสนุนการศึกษาศิลปะการถ่ายรูปนั้น มูลนิธิมีวัตถุประสงค์ว่าควรจัดประกวดและจัดนิทรรศการภาพถ่ายขาว-ดำสำหรับนักเรียน นิสิต นักศึกษา ในหัวข้อ FACES OF BANGKOK"ได้จัดจนถึง พ.ศ. 2537 ได้เริ่มจัดการประกวดภาพขาวดำ หรือสีในหัวข้อ "บ้านเมืองของเรา" เพื่อให้เยาวชนต่างจังหวัดได้มีส่วนร่วมแสดงผลงาน และได้จัดสลับกันปีละหัวข้อตลอดมา โดยเชิญสมาคมถ่ายภาพในประเทศไทยผลัดกันเป็นประธานร่วมจัดงาน ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี เนื่องจากเทคโนโลยีในยุคปัจจุบันก้าวหน้าไปมากมีการถ่ายทำในระบบดิจิทัลที่นักศึกษาได้ใช้กันอย่างแพร่หลาย คณะกรรมการ จึงเห็นควรให้มี่การถ่ายภาพในระบบดิจิทัลได้ตั้งแต่ พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา
ซึ่งทางคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม เห็นว่าการจัดการแข่งขันในรายการดังกล่าว จะเป็นเวทีและเป็นประโยชน์ สำหรับให้นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ SPU ที่มีใจรักในการถ่ายภาพได้มีเวทีสำหรับฝึกปรือฝีมือและหาประสบการณ์ พร้อมกับได้พบปะเพื่อนใหม่ๆเพื่อจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้สิ่งใหม่ร่วมกัน อันจะทำให้เราได้คิดและวิเคราะห์ข้อมูลใหม่ๆ เพื่อให้ได้ความคิดและมุมมองที่กว้างมากขึ้น มีประสบการณ์มากยิ่งขึ้น โดยที่เราไม่สามารถหาซื้อได้จากที่ไหนและไม่มีในห้องเรียน อยากได้ต้องหาจากประสบการณ์เท่านั้น