กรุงเทพฯ--4 ธ.ค.--JGSEE
บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE)
นักศึกษา ป.เอก สายพลังงาน JGSEE แนะใช้เตาแก๊สมีประสิทธิภาพลดการสิ้นเปลืองแก๊สหุงต้ม ก่อนเลือกซื้อให้เช็คการติดไฟ สีเปลวไฟ และความเสถียรของเปลวไฟ เผยศึกษาการทดสอบประสิทธิภาพเตาแก๊สที่ผลิตในไทยและวิเคราะห์ปัญหาด้วยเทคนิคเลเซอร์ พบคุณภาพเตาแก๊สเฉลี่ยแล้วต่ำกว่ามาตรฐาน ทั้งด้านการให้ความร้อนและปลดปล่อยแก๊สมลพิษ ระบุการปรับปรุงเตาแก๊สให้ได้มาตรฐานไม่ซับซ้อนจึงไม่ส่งผลต่อราคาเตาแก๊ส ระบุอนาคตจะมีการพัฒนาการติดฉลากเตาแก๊สประสิทธิภาพสูง หรือ เบอร์ 5 เพื่อเป็นตัวช่วยการตัดสินใจซื้อเตาแก๊สของครัวเรือน
หลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศให้ราคาแก๊สหุงต้มลอยตัวแล้วในสัปดาห์ก่อน ทำให้ขณะนี้ราคาแก๊สหุงต้มเพิ่มขึ้นจากเดิมกิโลกรัมละ 1.20 บาท จากราคา 16.80 บาท เป็นกิโลกรัมละ 18 บาท และอาจเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ส่งผลให้หลายครัวเรือนต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี แนวทางที่จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ลดการสิ้นเปลืองของแก๊สหุงต้ม และช่วยชาติประหยัดพลังงานได้ คือ การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
นางสาวอุษา มากมูล นักศึกษาปริญญาเอก สาขาเทคโนโลยีพลังงาน บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผู้ศึกษาเรื่องการทดสอบสมรรถนะและวิเคราะห์ปัญหาของเตาแก๊สหุงต้ม โดยการวินิจฉัยด้วยเลเซอร์ กล่าวว่า ประสิทธิภาพของเตาแก๊สมีเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อความสิ้นเปลืองของแก๊สหุงต้ม ซึ่งจากการทดสอบสมรรถนะทางด้านประสิทธิภาพทางความร้อน และการปลดปล่อยก๊าซมลพิษของเตาแก๊สที่มีการผลิตและจำหน่ายภายในประเทศ ทั้งหมด 400 เตา จาก 13 บริษัท พบว่าสมรรถนะของเตาแก๊สต่ำกว่ามาตรฐานทั้งด้านการประหยัดพลังงาน การรักษาสิ่งแวดล้อม และในแง่ความปลอดภัย โดยค่าประสิทธิภาพทางความร้อนเฉลี่ยอยู่ที่ 49% จากมาตรฐานของยุโรป (EN203-1, 2: 1995) ที่ระบุไว้อย่างต่ำคือ 50% และการปลดปล่อยก๊าซมลพิษ หรือแก๊สคาร์บอนมอนนอกไซด์อยู่ที่ 50 ถึง 5,000 ส่วนต่อก๊าซทั้งหมดล้านส่วน (ppm) จากมาตรฐานไม่เกิน 1,000 ppm
“การวิเคราะห์ปัญหาเตาแก๊สครั้งนี้ได้นำเทคนิคด้านเลเซอร์ 2 เทคนิค คือ เทคนิคการศึกษาด้านกลศาสตร์การไหลของเปลวไฟ (Particle Imaged Velocimetry : PIV) ที่มีผลต่อการเผาไหม้ ประสิทธิภาพทางด้านความร้อน และการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ และเทคนิคการวิเคราะห์การเผาไหม้ (Planar Laser Induced Fluorescence : PLIF) ช่วยในการศึกษากลไกการเผาไหม้ เช่น อุณหภูมิเปลวไฟ และการกระจายการเผาไหม้ เตาแก๊สที่มีประสิทธิภาพความร้อนสูง และปลดปล่อยมลพิษในอัตราที่ต่ำ กล่าวคือ ค่าการไหลของเปลวไฟที่มีความปั่นป่วนสูงจะช่วยให้เกิดอัตราการถ่ายเทความร้อนได้ดี ทำให้มีประสิทธิภาพทางความร้อนสูง แต่หากมีความปั่นป่วนที่สูงเกินไปจะทำให้เปลวไฟดับ ซึ่งส่งผลถึงความไม่ปลอดภัยและทำให้เกิดมลพิษมากเช่นกัน การออกแบบเตาแก๊สที่ดีควรต้องสามารถกำหนดสภาวะเพื่อให้ได้ทั้งประสิทธิภาพทางความร้อนสูงและปลดปล่อยมลพิษในอัตราที่ต่ำได้” น.ส.อุษา กล่าว
ทั้งนี้ น.ส.อุษา กล่าวถึงเกณฑ์การเลือกซื้อเตาแก๊สที่มีประสิทธิภาพว่า ก่อนซื้อควรทดลองจุดเตา ข้อสังเกตคือเตาที่ดีต้องจุดติดง่าย เปลวไฟที่ได้จะต้องเป็นสีฟ้าเท่านั้น ไม่เป็นสีส้ม สีเหลือง หรือสีแดง และไม่ว่าจะหรี่ไฟให้อ่อนลง หรือเร่งไฟให้แรงขึ้นเปลวไฟจะต้องไม่เปลี่ยนสี และต้องไม่ดับง่ายแม้ว่าจะมีลมจากภายนอก หรือมีคนเป่า นอกจากนี้ ในการใช้งานไม่ควรเร่งไฟแรงจนเกินไป เนื่องจากไฟแรงไม่ได้ช่วยให้อาหารสุกเร็วขึ้น แต่จะเร่งอัตราการสูญเสียให้กับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ ดังนั้นการใช้เตาแก๊สจึงควรเร่งไฟพอประมาณ และควรหมั่นทำความสะอาดเตาแก๊สอยู่เสมอเพื่อป้องกันไม่ให้เศษอาหารลงไปอุดตันตามรูส่งแก๊ส ทำให้ไม่รบกวนการเผาไหม้ และช่วยยืดอายุการใช้งานของเตาแก๊สให้นานขึ้น
“อย่างไรก็ดี ขณะนี้ได้มีแนวคิดการติดฉลากเตาแก๊สประสิทธิภาพสูง หรือ ฉลากเบอร์ 5 ที่ติดในเครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อช่วยให้แต่ละครัวเรือนสามารถเลือกซื้อเตาแก๊สที่มีประสิทธิภาพได้ง่ายขึ้น ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีและกระทรวงพลังงาน คาดว่าจะช่วยลดปริมาณการสิ้นเปลืองแก๊สหุงต้มลงได้มาก และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านแก๊สหุงต้มให้กับครัวเรือนได้อีกด้วย” น.ส.อุษา กล่าวในที่สุด