จีอี มันนี่ ประเทศไทย ปลื้ม กว่า 300 ทีมทั่วประเทศชิง J-MAT Award ครั้งที่ 17

ข่าวทั่วไป Tuesday December 4, 2007 14:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ธ.ค.--พีอาร์ แอนด์ แอสโซซิเอส
นักศึกษาทั่วประเทศตบเท้าเข้าฟังชี้แจงโจทย์คับคั่ง ประกาศลั่นพร้อมแล้วสำหรับการแข่งขัน
ห้องสยามมกุฎราชกุมาร อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี แคบไปถนัดตา เมื่อตัวแทนนักศึกษาหลายร้อยชีวิตจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศกว่า 300 ทีม ที่สมัครเข้าประชันความรู้ด้านการตลาดและการเงินในโครงการ J-MAT AWARD ครั้งที่ 17 สำหรับแผนการตลาด “ผลิตภัณฑ์สินเชื่อ ที่รับผิดชอบต่อสังคม” ที่มีสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทยและจีอี มันนี่ ประเทศไทย เป็นผู้สนับสนุนการแข่งขัน เข้าร่วมฟังการบรรยายชี้แจงโจทย์สำหรับการแข่งขันครั้งนี้กันอย่างเนืองแน่น โดยทุกคนตั้งใจมาเก็บเกี่ยวข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับโจทย์การแข่งขันและเทคนิคในการวางแผนการตลาดกันเต็มที่ เพื่อนำไปใช้ในการวางแผนการตลาดส่งเข้าประกวดภายในวันที่ 22 ธันวาคม 2550 นี้
ตัวแทนนักศึกษา ทีมเมืองช้าง 2 จาก มหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์ ที่นั่งรถทัวร์กันมาทั้งคืนกล่าวอย่างมั่นใจว่า จะสามารถทำแผนการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ทางการเงิน “เฟิร์สช้อยส์คาร์ด” ซึ่งเป็นตุ๊กตาโจทย์ในปีนี้ได้ตรงกับที่กำหนดไว้ ถึงแม้ว่าจะเป็นโจทย์ทางการเงินที่ค่อนข้างท้าทาย แต่เนื่องจากในปัจจุบันไม่มีใครจะสามารถหลีกเลี่ยงจากเรื่องเงินๆ ทองๆ จนกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวของคนและสังคมไปแล้ว
ขณะที่ อาจารย์ทวีศักดิ์ แสวงสาย อาจารย์ที่ปรึกษาที่เดินทางมากับทีมตัวแทนนักศึกษาจากจังหวัดสุรินทร์ที่ระบุว่า มหาวิทยาลัยให้การสนับสนุนนักศึกษาอย่างเต็มที่ การคิดแผนการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ทางการเงินในเชิงที่พ่วงเอาความรับผิดชอบต่อสังคมเข้าไปด้วย เป็นสิ่งที่ดีและเปิดโอกาสที่ดีมากสำหรับการประสมทักษะด้านการตลาดที่เรียนมาใช้กับสินค้าที่แม้ไม่ใช้สินค้าอุปโภคบริโภคที่คุ้นเคย แล้วยังต้องสามารถสะท้อนการรับผิดชอบต่อผู้บริโภค ในทุกกระบวนของการวางแผน จึงทำให้โครงการประกวดฯในครั้งนี้น่าสนใจเป็นอย่างมากสำหรับนิสิต-นักศึกษาทุกคน
เช่นเดียวกับหนุ่มๆ ทีมสำเภาฟ้า จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่กล่าวว่า แม้ว่าโจทย์ในปีนี้จะค่อนข้างท้าทายแตกต่างจากการแข่งขันใน 16 ครั้งที่ผ่านมาที่จะใช้ผลิตภัณฑ์อุปโภค-บริโภคที่จับต้องได้เป็นโจทย์ ถือเป็นครั้งแรกของการประกวดแผนการตลาดที่ใช้หัวข้อ ผลิตภัณฑ์ทางการเงินมาแข่งขัน จึงทำให้ไม่เกิดความเสียเปรียบกันมากนักระหว่างกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัด เพราะต้องอาศัยความเข้าใจและพฤติกรรมของสังคมและชุมชนมาเป็นฐานด้วย เพราะผลิตภัณฑ์ทางการเงินได้กลายมาเป็นความจำเป็นในชีวิตประจำวันอย่างหนึ่งไปแล้วสำหรับพวกเราทุกคน ไม่ต่างไปจากสินค้าอุปโภค — บริโภค ประเภทอื่น ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะทำให้พวกเรามีโอกาสนำความรู้ที่ได้เรียนมาประยุกต์ใช้ในการทำแผนการตลาดในครั้งนี้
ในขณะที่นักศึกษาทีม Small Girls จากมหาวิทยาลัยราชภัฎจักรพงษภูวนารถ กล่าวว่า หลังทราบข่าวการประกวดและตัดสินใจสมัครเข้าแข่งขัน เพราะตลาดการเงินยังเปิดกว้างให้กับนักการตลาดรุ่นใหม่ๆ ตนเองและเพื่อนในทีมได้ช่วยกันหาข้อมูลเบื้องต้นที่จำเป็นกันมาแล้วในระดับหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น ภาพรวมอุตสาหกรรมการเงิน ตลาดสินเชื่อโดยรวม ภาวะการแข่งขัน รวมถึงข้อมูลของจีอี มันนี่ ประเทศไทยและพยายามทำความเข้าใจเพื่อเวลาที่มาฟังชี้แจงโจทย์จะช่วยให้สามารถเข้าใจข้อมูลได้ง่ายขึ้น
โดยในงานสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย ได้เชิญคุณณญานี เผือกขำ ผู้อำนวยการอาวุโส และคุณพรพิมล ปฐมศักดิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด — สินเชื่อบุคคลและสินเชื่อผ่อนชำระ จาก จีอี มันนี่ ประเทศไทย มาให้ข้อมูลนักศึกษาเกี่ยวกับบริษัทจีอี มันนี่ ประเทศไทย แผนการตลาดของผลิตภัณฑ์การเงิน “เฟิร์สช้อยส์คาร์ด” และความหมายของ “ผลิตภัณฑ์สินเชื่อ ที่รับผิดชอบต่อสังคม”
คุณณญานีกล่าวว่า จีอี มันนี่ ประเทศไทย ตระหนักดีว่า การศึกษาเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยพัฒนาประเทศให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว การสนับสนุนด้านการศึกษาในรูปแบบต่างๆ จึงเป็นเรื่องที่บริษัทฯ ให้ความสำคัญในอันดับต้นๆ เสมอมา และการสนับสนุนโครงการประกวดแผนการตลาดในครั้งนี้ จีอี มันนี่ มองว่าเป็นการมอบโอกาสให้นิสิต-นักศึกษาได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม โดยผ่านการวางแผนการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์การเงิน ประกอบกับจีอี มันนี่ ประเทศไทย ในฐานะที่เป็นองค์กรที่ให้บริการด้านการเงินและมีความชำนาญเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการการเงินจึงทราบดีว่า ปัจจุบันผลิตภัณฑ์การเงินเริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของทุกคนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การใช้จ่ายเงินอย่างมีระบบ การจัดการเงินอย่างมีวินัย จึงเป็นเรื่องที่ควรได้รับการส่งเสริมให้แพร่หลายในสังคม
“การคิดแผนการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ทางการเงินในหัวข้อ “ผลิตภัณฑ์สินเชื่อ ที่รับผิดชอบต่อสังคม...เฟิร์สช้อยส์คาร์ด” จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนิสิต-นักศึกษาที่จะได้นำความรู้ด้านการตลาดมาฝึกฝีมือและทักษะด้านการตลาดกับผลิตภัณฑ์การเงินที่ปัจจุบันมีบทบาทมากขึ้นในชีวิตประจำวันของพวกเราทุกคน การวางกลยุทธ์และการวางแผนการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ทางการเงินนั้น นักศึกษาจะต้องให้ความสำคัญกับการเสนอแผนที่สะท้อนการรับผิดชอบต่อผู้บริโภคในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เข้าใจถึงความต้องการของลูกค้า การสร้างแคมเปญการตลาดที่โปร่งใส ตลอดจนการให้บริการหลังการขายที่จะต้องควบคู่ไปกับการให้ความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนรับฟังความคิดเห็นของลูกค้าในทุกระดับ เพื่อให้ผู้บริโภคมีความเข้าใจต่อผลิตภัณฑ์และมีระเบียบวินัยต่อการบริหารการเงินของตนและครอบครัวด้วย”
ที่สำคัญคือได้มีส่วนร่วมในการสร้างความรับผิดชอบในสังคมร่วมกัน โดยจีอี มันนี่ ประเทศไทย เชื่อมั่นว่านิสิต-นักศึกษาเป็นอีกกลุ่มคนหนึ่งในสังคม ที่มีศักยภาพเพียงพอและมีบทบาทสำคัญในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ผลิตภัณฑ์อย่างมีความรับผิดชอบให้เกิดขึ้นในสังคมและครอบครัวได้ในระดับหนึ่ง
นอกจากนี้ นักศึกษา ยังได้ฟังเทคนิคดีๆ และมีประโยชน์มากมายในการวางแผนการตลาดจาก คุณธนิต นามเสถียร ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายการเงินและการลงทุน บริษัท บางกอก แคปปิตอล อัลไลแอ็นซ์ แถมด้วยข้อคิดและคำแนะนำดีๆ เกี่ยวกับประสบการณ์ในการทำแผนการตลาดส่งเข้าประกวดจากรุ่นพี่ตัวแทนจากทีมทะเลใจ ผู้ชนะเลิศโครงการ J-MAT AWARD ครั้งที่ 15 อีกด้วย
ในขณะที่นักศึกษาทีม NRRU จากมหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา กล่าวถึงมุมมองเกี่ยวกับกับคำว่า “ความรับผิดชอบต่อสังคม” ด้านการเงิน ว่า ในฐานะเจ้าของผลิตภัณฑ์ควรแสดงความรับผิดชอบด้วยการคิดดอกเบี้ยที่ไม่สูงจนเกินไป จนผู้บริโภคไม่สามารถผ่อนชำระได้ รวมถึงการอธิบายรายละเอียดและสร้างความเข้าใจให้กับผู้บริโภคอย่างชัดเจนก่อนการอนุมัติสินเชื่อ ในทางตรงกันข้ามต้องพยายามให้ผู้บริโภคศึกษาข้อมูลให้ชัดเจนก่อนตัดสินใจใช้บริการ เป็นต้น
ที่น่าสนใจคือ นักการตลาดรุ่นเยาว์ในอนาคตหลายคนที่มาร่วมในงานครั้งนี้ มองว่า การส่งแผนการตลาดเข้าประกวดในหัวการเงินในครั้งนี้นอกจากจะเป็นโอกาสที่ดีในการเก็บเกี่ยวความรู้และเทคนิคในการทำแผนการตลาด ที่จะเป็นประโยชน์อย่างมากที่สามารถนำไปใช้ได้จริงในชีวิตการทำงานหลังจบการศึกษาไปแล้ว ยังจะเป็นพื้นฐานและประสบการณ์ที่ดีที่จะช่วยได้มากหากในอนาคตมีโอกาสได้ทำงานทางด้านการเงินอีกด้วย
“ความภูมิใจที่พวกเราจะได้จากการสมัครเข้าแข่งขันสำคัญมากกว่าเรื่องรางวัล แต่การทำแผนการตลาดที่ทุกคนในทีมต้องช่วยเหลือกันต่างหากที่จะทำให้ทุกคนได้ฝึกฝนการทำงานเป็นทีม การค้นหาข้อมูล การแบ่งงานในกลุ่ม การแก้ปัญหา การคิดและการทำงานอย่างเป็นระบบ การจัดสรรเวลา ซึ่งจะกลายเป็นพื้นฐานที่มีประโยชน์ต่อทุกคนในอนาคต พวกผมพร้อมประชันฝีมือการทำแผนการตลาดสำหรับโครงการ J-MAT AWARD ครั้งที่ 17 นี้” นักศึกษาทีม Wings จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวด้วยความมุ่งมั่น
การประกวดแผนการตลาด J-MAT Award ครั้งที่ 17 ในปีนี้ มีทีมนักศีกษาระดับปีที่3 — 4 จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศสมัครเข้าชิงชัยกันมากกว่า 300 ทีม กำหนดตัดสินในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 โดยทีมชนะเลิศจะได้รับโล่พระราชทานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และทุนการศึกษา 100,000 บาท
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
กำธน โพชฌงค์ขันธ์
สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย
โทรศัพท์ 0-2679 7360-3
อีเมล์ kth@marketingthai.or.th
น้ำตาล สกุลสิงห์ดุสิต
บริษัท พีอาร์ แอนด์ แอสโซซิเอส จำกัด
โทรศัพท์ 0-2651-8989 ต่อ 225
อีเมล์ namtarn@prassociates.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ