กรุงเทพฯ--20 มิ.ย.--สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ร่วมกับ องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่นหรือ เจโทร (ประเทศไทย) JICA, UNDP กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน จัดงานสัมมนา "Thailand-Japan Collaboration Seminar: Towards ASEAN Smart City Network Development" เพื่อสร้างความร่วมมือในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่เป็นรูปธรรมระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น โดยมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการสัมมนา
ในช่วงแรก ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้กล่าวรายงานว่า ปัจจุบันหลายประเทศรวมไปถึงประเทศไทยได้เล็งเห็นความสำคัญ และกำลังพัฒนาเมืองอัจฉริยะทั้งการพัฒนาในประเทศของตนเอง และการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 32 ที่ผ่านมา ผู้นำอาเซียนได้ตกลงที่จะจัดตั้งเครือข่ายเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities Network: ASCN) เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ องค์ความรู้ เทคโนโลยี ตลอดจนสร้างความร่วมมือในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะร่วมกัน ด้วยเหตุนี้เจโทรจึงเล็งเห็นถึงโอกาสในการสร้างความร่วมมือในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่เป็นรูปธรรมระหว่างไทยกับญี่ปุ่น รวมไปถึงเชื่อมโยงการดำเนินงานร่วมกันกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีและควรให้การสนับสนุนเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน
การจะพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้ประสบความสำเร็จได้นั้นปัจจัยหลักอยู่ 3 ประการคือ ประการแรกธุรกิจและประชาชนในท้องถิ่นจะต้องเกิดความต้องการและเรียกร้องให้เกิดเมืองอัจฉริยะขึ้น โดยจะอัจฉริยะในด้านไหนนั้น ขึ้นอยู่กับบริบทของท้องถิ่นอย่างแท้จริง ประการที่สองรัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะและถือเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน และประการสุดท้ายคือความร่วมมือกันของภาครัฐทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน ในรูปแบบ PPP ตามแนวทางประชารัฐ ทั้งนี้ ความร่วมมือในครั้งนี้ จะขยายไปถึงความร่วมมือในระดับนานาชาติทั้งในเวทีพหุภาคี หรือความร่วมมือแบบทวิภาคีที่ไทยมีกับประเทศต่าง ๆ ด้วย
ด้านพล.อ.อ.ประจิน กล่าวเปิดงานว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมในทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยในปีนี้จะดำเนินการเร่งด่วนใน 7 จังหวัด คือ ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น กรุงเทพฯ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ทั้งนี้ ยังมีแผนขยายพื้นที่ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ภายในระยะเวลา 5 ปี นอกจากนี้ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะเพื่อดำเนินงานรายสาขาตามความจำเป็นในแต่ละพื้นที่ ภายใต้องค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งใน 6 อัตลักษณ์ คือ ชุมชนอัจฉริยะ สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ คมนาคมขนส่งอัจฉริยะ พลังงานอัจฉริยะ เศรษฐกิจอัจฉริยะ และการบริหารจัดการอัจฉริยะ
"การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หรือสมาร์ทซิตี้ เป็นเมืองที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยและชาญฉลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการและการบริหารจัดการเมือง ลดค่าใช้จ่ายและการใช้ทรัพยากร โดยเน้นการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจและภาคประชาชน ภายใต้แนวคิดการพัฒนาเมืองน่าอยู่ ทันสมัย ให้ประชาชนในเมืองอยู่ดี มีสุข อย่างยั่งยืน ซึ่งการสัมมนาในครั้งนี้จึงเป็นการจุดประกายความร่วมมือและจะเป็นต้นแบบในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในอนาคต เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นเมืองแห่งโลกดิจิทัลและนวัตกรรมต่าง ๆ รวมถึงการแก้ปัญหาอย่างชาญฉลาดด้านพลังงานและการลดมลพิษในอากาศ" พล.อ.อ.ประจิน กล่าว
ด้าน ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ในฐานะเลขานุการร่วมกับผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (ผอ. สนข.) และผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (ผอ.สนพ.) คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ กล่าวว่า ในการประชุมร่วมกันที่ผ่านมาทางคณะกรรมการฯได้เร่งดำเนินการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะตามพื้นที่ดูแลของแต่ละฝ่าย ได้แก่ depa ดำเนินการพัฒนาโครงการภูเก็ต สมาร์ทซิตี้ (Phuket Smart City) "ต้นแบบเมืองอัจฉริยะ" ภายใต้โครงการความร่วมมือกับหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และส่วนราชการท้องถิ่นในจังหวัดภูเก็ต โดยภูเก็ตได้มีการขับเคลื่อนต่อยอดโครงการไปแล้ว 4 ด้าน คือ ด้านการท่องเที่ยว (Smart Tourism) ด้านความปลอดภัย (Smart Safety) ด้านสิ่งแวดล้อม (Smart Environment) และ ด้านเศรษฐกิจ (Smart Economy) ล่าสุด depa ร่วมกับกลุ่ม Smart City Alliance ลงพื้นที่เทศบาลนครแหลมฉบัง และเมืองพัทยา เพื่อศึกษาถึงปัญหาและความต้องการของพื้นที่ ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนและหน่วยงานท้องถิ่น โดยเทศบาลนครแหลมฉบังให้ความสนใจเรื่องการเพิ่มความปลอดภัยให้รถโรงเรียน กวดขันวินัยจราจร บริหารจัดการสิ่งแวดล้อม น้ำท่วม และ ระบบ automated call centre
ด้าน สนข. ผลักดันให้ให้เกิดความร่วมมือภาครัฐ-เอกชน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อน Smart City พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ในมิติของโครงข่ายการให้บริการภาครัฐ การคมนาคมขนส่ง ความปลอดภัย การศึกษา พลังงานสะอาด การสื่อสารข้อมูล และสิ่งแวดล้อมที่ปราศจากมลภาวะ ส่วน สนพ.นั้น ได้ดำเนินการร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ด้วยการขับเคลื่อนแผนด้านพลังงานของประเทศ ลดการใช้พลังงานสูงสุด ผลักดันให้เกิดนวัตกรรมด้านพลังงานและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ทั้งนี้การดำเนินการของคณะทำงานฯ ดังกล่าวได้พยายามดำเนินการโดยการบูรณาการทำงานกับทุกภาคส่วนเพื่อครอบคลุมการทำงานในทุกมิติ