กรุงเทพฯ--20 มิ.ย.--มหาวิทยาลัยขอนแก่น
วันนี้ (20 มิถุนายน 2561) อีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลสำรวจเรื่อง "คนอีสานรู้หรือยัง เลือกตั้ง สส. ครั้งหน้าต่างจากเดิม" ผลสำรวจพบว่า เกินครึ่งไม่ทราบว่าในการเลือกตั้ง สส. ครั้งหน้า มีแนวทางหลายอย่างที่ต่างจากเดิม แต่เกินครึ่งชอบแนวทางหรือรูปแบบใหม่ในการเลือกตั้ง สส. ครั้งหน้า ในหลายประเด็น โดยเฉพาะการอนุญาตให้จัดมหรสพช่วงหาเสียงเลือกตั้งได้ การทำไพมารีโหวต และการคำนวณจำนวน สส. แบบใหม่
ผศ.ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพลเปิดเผยว่า การสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจว่าคนอีสานได้ทราบถึงแนวทางและวิธีการเลือกตั้ง สส. ครั้งหน้าซึ่งจะต่างจากเดิมในหลายๆ ประเด็น มากน้อยน้อยเพียงใด และชอบหรือไม่ชอบวิธีการดังกล่าวมากน้อยเพียงใด ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 15-17 มิถุนายน 2561 จากกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,191 รายในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด
จากการสอบถามว่า แนวทาง/วิธีการเลือกตั้ง สส. ครั้งหน้า จะต่างจากเดิม ท่านรู้หรือไม่ และ ชอบแนวทางนี้หรือไม่ โดยทำการสอบถามทั้งหมด 8 ประเด็น และได้ผลดังนี้
ข้อที่ 1 จะอนุญาตให้จัดมหรสพช่วงหาเสียงเลือกตั้งได้
ร้อยละ 53.9 รู้ ร้อยละ 46.1 ไม่รู้
ร้อยละ 64.4 ชอบ ร้อยละ 35.6 ไม่ชอบ
ข้อที่ 2 จะมีบัตรลงคะแนนแค่ใบเดียว คือเลือกผู้สมัครแบบเขตได้เบอร์เดียว แล้วค่อยนำคะแนนของผู้สมัครรวมของแต่ละพรรคไปคำนวณจำนวน สส. บัญชีรายชื่อที่พึงได้
ร้อยละ 40.0 รู้ ร้อยละ 60.0 ไม่รู้
ร้อยละ 62.5 ชอบ ร้อยละ 37.5 ไม่ชอบ
ข้อที่ 3 หมายเลขผู้สมัครของแต่ละพรรคในแต่ละเขตจะไม่เหมือนกัน ซึ่งระบบเดิมจะใช้ระบบพรรคเดียวหมายเลขเดียวทั่วประเทศ
ร้อยละ 38.5 รู้ ร้อยละ 61.5 ไม่รู้
ร้อยละ 57.6 ชอบ ร้อยละ 42.4 ไม่ชอบ
ข้อที่ 4 ในแต่ละเขตเลือกตั้งอาจจะมีจำนวนผู้สมัคร สส. สูงถึง 40-50 หมายเลข เนื่องจากมีพรรคการเมืองจำนวนมาก
ร้อยละ 40.7 รู้ ร้อยละ 59.3 ไม่รู้
ร้อยละ 54.0 ชอบ ร้อยละ 46.0 ไม่ชอบ
ข้อที่ 5 ในการส่งผู้สมัครลงแต่ละเขตในจังหวัดใด จะต้องทำการหยั่งเสียงโดยสมาชิกพรรคในแต่ละจังหวัด (ไพมารีโหวต)
ร้อยละ 38.5 รู้ ร้อยละ 61.2 ไม่รู้
ร้อยละ 63.6 ชอบ ร้อยละ 36.4 ไม่ชอบ
ข้อที่ 6 พรรคการเมืองที่มี สส. มากกว่า 5% หรือ 25 เสียงจะสามารถเสนอรายชื่อว่าที่นายกรัฐมนตรีต่อรัฐสภาได้ 3 รายชื่อ
ร้อยละ 30.3 รู้ ร้อยละ 69.7 ไม่รู้
ร้อยละ 57.2 ชอบ ร้อยละ 42.8 ไม่ชอบ
ข้อที่ 7 สว. (สรรหา) 250 เสียง จะมีสิทธิโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ สส. 500 เสียง
ร้อยละ 31.3 รู้ ร้อยละ 66.9 ไม่รู้
ร้อยละ 60.4 ชอบ ร้อยละ 39.36 ไม่ชอบ
ข้อที่ 8 พรรคที่ได้ 251 เสียง อาจจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ แต่ยังต้องการเสียงอีก 125 เสียงจากพรรคการเมืองอื่นๆ และ จาก สว. เพื่อให้ได้เสียง 376 เสียงขึ้นไป จึงจะตั้งรัฐบาลได้
ร้อยละ 31.3 รู้ ร้อยละ 68.7 ไม่รู้
ร้อยละ 60.3 ชอบ ร้อยละ 39.7 ไม่ชอบ
ข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง มีความเชื่อมั่นในการพยากรณ์ 99% และคลาดเคลื่อนได้บวกลบ 4% ประกอบด้วยเพศหญิงร้อยละ 51.7 เพศชายร้อยละ 48.3
ด้านอายุ ช่วงอายุ 18-25ปี ร้อยละ 9.1 อายุ 26-35 ปี ร้อยละ 22.5 อายุ 36-45 ปีร้อยละ 32.1 อายุ 46-55 ปีร้อยละ 22.8 อายุ 56-60 ปี ร้อยละ 7.9 และอายุตั้งแต่ 61 ปีขึ้นไป ร้อยละ 5.6
ส่วนระดับการศึกษาส่วนใหญ่จบการศึกษาประถมศึกษา/ต่ำกว่า ร้อยละ 25.3 รองลงมา ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ปวช. ร้อยละ 21.9 ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นร้อยละ 21.7 ระดับปริญญาตรี ร้อยละ 20.8 ระดับอนุปริญญา/ปวส. ร้อยละ 6.9 และระดับสูงกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 3.3
ด้านอาชีพ ประกอบอาชีพเกษตรกร ร้อยละ 40.8 รองลงมารับจ้างทั่วไป/ใช้แรงงาน ร้อยละ 14.3 ค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 10.8 รับราชการ/รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 10.4 พนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 10.0 นักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 6.0 พ่อบ้าน/แม่บ้าน ร้อยละ 5.1 และอื่นๆ ร้อยละ 2.5
ด้านรายได้เฉลี่ยต่อเดือน ไม่เกิน 5,000 บาท ร้อยละ 16.8 รายได้ 5,001-10,000 บาท ร้อยละ 29.6 รายได้ 10,001-15,000 บาท ร้อยละ 20.6 รายได้ 15,001-20,000 บาท ร้อยละ 15.2 รายได้ 20,001-40,000 ร้อยละ 14.7 และรายได้มากกว่า 40,001 บาทขึ้นไป ร้อยละ 3.1
หมายเหตุ: นอกเหนือจากผลสำรวจซึ่งนำเสนอข้อมูลตามวิธีทางสถิติแล้วความคิดเห็นอื่นๆ ในผลสำรวจนี้เป็นความเห็นของผู้รับผิดชอบโครงการซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น