กรุงเทพฯ--20 มิ.ย.--กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
วันที่ 10 มกราคม 2560 ณ ห้องบอลรูม 1 ชั้น 3 โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ รัชดา กรุงเทพมหานคร นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิด "การสัมมนาสร้างเครือข่ายพัฒนาฝีมือแรงงานให้เกิดความเข้มแข็งรองรับไทยแลนด์ 4.0" พร้อมมอบโล่เกียรติคุณให้แก่เครือข่ายพัฒนาฝีมือแรงงาน ที่ร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานรับไทยแลนด์ 4.0
นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 โดยเน้นกระบวนการประชารัฐในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งจะสอดคล้องกับภารกิจของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน ในการพัฒนากำลังแรงงานที่อยู่ในวัยทำงานให้สูงขึ้นเป็นที่ต้องการตลาดแรงงาน และตอบสนองนโยบายเร่งด่วน (Agenda Based) ของกระทรวงแรงงาน ยกระดับทักษะฝีมือคนทำงาน รองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และการไปทำงานต่างประเทศ เป็นต้น รวมถึงแก้ไขปัญหาการขาดแคลนช่างฝีมือในตลาดแรงงาน โดยอาศัยความร่วมมือจากสถาบันการศึกษา ภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมเป็นเครือข่ายในการดำเนินการดังกล่าว
นายสุทธิ กล่าวต่อไปว่าการจัดสัมมนาในครั้งนี้จึงจัดขึ้นเพื่อให้หน่วยงานเครือข่ายของกพร. เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาฝีมือแรงงานเพิ่มมากขึ้นและเสนอแนะประเด็น เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงการดำเนินงาน ให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชนและภาคประชาชน ตลอดจนสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับหน่วยงานเครือข่ายพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อให้เกิดการบูรณาการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาล โดยจะมีการเสวนา "การสร้างเครือข่ายการพัฒนาฝีมือแรงงานรองรับไทยแลนด์ 4.0" ฟังข้อคิดเห็นจากผู้บริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บริษัท นิปปอนเพนต์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท แซ็ง-โกแบ็ง เวเบอร์ จำกัด พร้อมรับฟังแนวทางการพัฒนาฝีมือแรงงานแบบบูรณาการและการมีส่วนร่วมของการเป็นเครือข่ายการพัฒนาฝีมือแรงงานของกระทรวงแรงงาน
"ทั้งนี้ ได้มีการจัดพิธีมอบโล่เกียรติคุณให้ภาคเอกชน จำนวน 27 แห่งที่เป็นเครือข่ายการพัฒนาฝีมือแรงงาน และหน่วยงานในสังกัดกพร. 3 แห่ง รวมจำนวน 30 แห่ง ที่ได้ร่วมมือกันพัฒนาฝีมือแรงงานอย่างต่อเนื่อง อาทิ ร่วมกันดำเนินการจัดฝึกอบรมอาชีพให้แก่คนทำงาน ผู้มีรายได้น้อย คนพิการ เพื่อเป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กลุ่มบุคคลเหล่านี้ ที่ผ่านมาได้พัฒนาทักษะให้คนทำงานตามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือการพัฒนาฝีมือแรงงาน (MOU) จำนวน 19,066 คน พัฒนาครูฝึกของกพร. ในการเป็นวิทยากรในถ่ายทอดความรู้ให้แก่กำลังแรงงาน และช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ เป็นต้น และสนับสนุนวัสดุและงบประมาณการฝึกอบรมจำนวน 25,383,869 บาท มีส่วนในการประหยัดงบประมาณของภาครัฐ และช่วยการพัฒนาฝีมือแรงงานทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสมัยใหม่ด้วย" อธิบดี กพร. กล่าวทิ้งท้าย