กรุงเทพฯ--20 มิ.ย.--กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
กพร. กระทรวงแรงงาน พัฒนาช่างก่อสร้าง ปี 61 ยอดฝึกพุ่งกว่า 9 พันคน หวังดันอุตสาหกรรมก่อสร้างสู่แนวหน้าสากล
นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าในปัจจุบันรัฐบาลมีโครงการเมกะโปรเจ็กมากมายในการพัฒนาประเทศสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 อาทิ การพัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภคในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีการขยายโครงสร้างพื้นฐานของสนามบิน ท่าเรือ รวมไปถึงทีพักอาศัย และสถานที่ต่างๆ ทำให้อุตสาหกรรมก่อสร้างมีความตื่นตัวเป็นอย่างมาก มีความต้องการช่างฝีมือเพื่อเป็นกลไกในการรองรับโครงการต่างๆ กพร. จัดฝึกอบรมในหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง เป็นไปตามนโยบายเร่งด่วน (Agenda Based) ของพลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ด้านการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ให้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน เพื่อเพิ่มโอกาสในการมีงานทำของกลุ่มคนในทุกเพศ ทุกวัย ในปีนี้ (2561) ได้ดำเนินการฝึกอบรมช่างก่อสร้างแล้วจำนวน 9,531 คน ในสาขาปูกระเบื้อง การก่ออิฐ-ฉาบปูน การทาสีอาคาร การติดตั้งโครงสร้างมวลเบาผนังและหลังคาเมทัลชีท การก่อสร้างอาคารด้วยโฟมและวัสดุทดแทน การก่อสร้างบ้านดินเพื่อการท่องเที่ยว เป็นต้น
นายสุทธิ กล่าวต่อไปว่านอกจากนี้กพร. ได้ใช้แนวทางประชารัฐในการสร้างเครือข่ายพัฒนาฝีมือแรงงานซึ่งได้รับความร่วมมือที่ดีมาโดยตลอด โดยล่าสุดได้รับการสนับสนุนจาก 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ได้ลงนามความร่วมมือกับกพร. ได้แก่ บริษัท โสสุโก้ แอนด์ กรุ๊ป (2009) และบริษัท แซง-แบ็ง เวเบอร์ จำกัด ร่วมมือกับหน่วยงานในสังกัดกพร. สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน(สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) ในพื้นที่ 24 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง จันทบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี สมุทรสาคร ชัยภูมิ สุรินทร์ กาฬสินธุ์ สกลนคร หนองบัวลำภู บึงกาฬ ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ กำแพงเพชร ตาก น่าน แพร่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน พังงา ระนอง และสตูล เพื่อนำไปใช้ฝึกอบรมสาขาช่างปูกระเบื้อง เน้นฝึกอบรมให้กับช่างชุมชน ทหารเกณฑ์ก่อนปลดประจำการ ประชาชนทั่วไป และมีผู้รายได้น้อย และบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) ได้ให้การสนับสนุนในการพัฒนาช่างก่อสร้างในพื้นที่อีก 10 จังหวัด เช่น สุพรรณบุรี ตาก นครพนม นครปฐม ลำพูน เพชรบรูณ์ อุดรธานี บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด และระนอง
"ความร่วมมือและการสนับสนุนในครั้งนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการพัฒนาช่างก่อสร้างให้มีขีดความสามารถเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาทักษะในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engines of Growth) รองรับการเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 และที่สำคัญผลิตภัณฑ์ยังถูกนำไปใช้เป็นอุปการณ์ฝึกซ้อมเก็บตัวเยาวชนที่ผ่านการแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติครั้งที่ 27 ในกลุ่มสาขาอาชีพเทคโนโลยีก่อสร้างและอาคาร สาขาปูกระเบื้องและสาขาก่ออิฐ เพื่อคัดเลือกเป็นตัวแทนของประเทศไทยไปแข่งขันในระดับอาเซียนและระดับนานาชาติ เป็นพิสูจน์ศักยภาพช่างก่อสร้างให้เป็นประจักษ์ และสนับสนุนให้อุตสาหกรรมก่อสร้างมีขีดความสามารถในการแข่งขันในอันดับต้นๆ ของโลกต่อไป" อธิบดีกพร. กล่าว