กรุงเทพฯ--20 มิ.ย.--กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
ก.แรงงาน ลุยพื้นที่ภาคเหนือ เยี่ยมการฝึกอาชีพช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ต่อยอดอาชีพเดิม เสริมอาชีพใหม่ สร้างรายได้สูงขึ้น เสริมชุมชนเข้มแข็ง ลงพื้นที่น่าน
นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กพร.ดำเนินการฝึกอาชีพภายใต้ "โครงการพัฒนาฝีมือให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนและผู้มีรายได้น้อย" ให้กับผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนและได้รับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้ยากจน และผู้ด้อยโอกาส ใน 20 จังหวัด ที่มีผู้รายได้ต่อหัวต่ำสุด ตามข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ปี 2558 ของกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เทียบกับข้อมูลของการลงทุนภายในจังหวัดของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้แก่ แม่ฮ่องสอน สุโขทัย แพร่ น่าน ศรีสะเกษ นครพนม อำนาจเจริญ ยโสธร สุรินทร์ ชัยภูมิ บึงกาฬ อุบลราชธานี บุรีรัมย์ หนองบัวลำภู กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม มุกดาหาร สระแก้ว เป็นการฝึกอบรมโดยสถาบันและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานในพื้นที่ในหลักสูตรอาชีพเสริม ระยะเวลาการฝึก 18-30 ชั่วโมง อาทิ สาขาช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ ช่างซ่อมเครื่องยนต์เล็กเพื่อการเกษตร ช่างเทคนิคงานคอนกรีต ช่างตัดเย็บเสื้อผ้า การทำหมอนเพื่อสุขภาพ การทำขนมไทย การประกอบธุรกิจออนไลน์ เป็นต้น ขณะนี้ผู้เข้ารับการฝึกอบรม 2,276 คน จากเป้าหมาย 3,840 คน ตามนโยบายของรัฐบาลในการลดความเหลื่อมล้ำของสังคม และสอดรับกับนโยบายเร่งด่วนของพลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน การพัฒนาทักษะฝีมือ เพิ่มช่องทางในการมีงานทำ สร้างรายได้ในการเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว
นายประทีป ทรงลำยอง หัวหน้าผู้ตรวจราชการ กพร.ได้มอบหมายให้ติดตามผลการฝึกอบรมให้กับผู้มีรายได้น้อย ลงพื้นที่บ้านห้วยมอญ ตำบลเรือง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน เยี่ยมชมกิจกรรมและผลงานของผู้ผ่านการฝึกอบรมจากโครงการดังกล่าว ซึ่งสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานน่าน ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในจังหวัด จัดฝึกอาชีพที่เกี่ยวข้องกับวิถีชุมชนและสังคม อาทิ การทำผ้าห่มนวมป้องกันภัยหนาว การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากท้องถิ่นเพื่อเพิ่มมูลค่าจากสิ่งของ โดยมีระยะเวลาฝึก 30 ชั่วโมง
นายประทีป กล่าวว่า ผู้อบรมเป็นชนเผ่าเมี่ยนและชนเผ่าถิ่น ต่างแต่งชุดประจำเผ่ามาฝึกการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผ้าเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ เป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นและน่าสนใจ อีกทั้งแสดงให้เห็นถึงความภาคภูมิใจและรักในถิ่นเกิด ซึ่งจังหวัดน่าน มีประชากรกว่า 400,000 คน 40 % เป็นชนเผ่า และมีผู้ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยถึง 180,000 คน ขณะที่ประชาชนในหมู่บ้านห้วยมอญ ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยทั้ง 100% สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานน่าน จึงเข้ามาดำเนินการฝึกอบรมต่อยอดจากเดิม โดยมุ่งหวังให้ชาวบ้านสามารถประกอบอาชีพในพื้นที่ได้อย่างเข้มแข็ง และเพิ่มมูลค่าของสินค้า การฝึกอาชีพในครั้งนี้ จึงเป็นการดำเนินงานไปถึงคนรากหญ้าที่มีความยากจนอยู่ในท้องถิ่นที่ห่างใกล ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการประกอบอาชีพเสริม ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์เมื่อว่างจากการทำไร่ ทำให้ผู้มีรายได้น้อยมีความเป็นอยู่ที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไปได้ และการฝึกอบรมผู้มีรายได้น้อยจะดำเนินการนำร่อง 20 จังหวัด ซึ่งจังหวัดน่านเป็นหนึ่งในจังหวัดนำร่องฝึกอาชีพผู้มีรายได้น้อยด้วย
นางพัชนี ธนากานนท์ อายุ 41 ปี เป็นผู้เข้าอบรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผ้าเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ เล่าว่า มีอาชีพทำไร่ และเครื่องเงิน มีโอกาสได้ฝึกอาชีพในครั้งนี้ รู้สึกดีมากที่รัฐบาลเข้ามาดูแลคนในหมู่บ้าน ซึ่งจะช่วยให้พวกเขามีรายได้ที่เพิ่มขึ้น จากการนำผ้าพื้นเมืองมาดัดแปลงเป็นกระเป๋าในรูปแบบต่าง ๆ ขายได้ง่ายและเร็วขึ้น ราคาไม่สูงมาก ต่างกับผ้าปักพื้นเมืองที่มีราคาตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 10,000 บาท และใช้เวลานานกว่าจะเสร็จ ส่วนหนึ่งเพราะผ้าปักพื้นเมืองแต่ละลายนั้นทำยาก และทำในช่วงว่างจากงานทำไร่แล้ว การแปรรูปจากผ้าจึงทำให้มีรายได้เข้ามาใช้จ่ายในครอบครัวเร็วและเพิ่มขึ้นด้วย