กรุงเทพฯ--20 มิ.ย.--TK park
การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการอ่านการเรียนรู้วันนี้ แม้จะส่งผลให้โลกของการเรียนรู้ของคนเราเปิดกว้างมากขนาดไหน แต่...ปัจจุบันพบว่า ยังมีกลุ่มผู้บกพร่องทางการมองเห็นและผู้บกพร่องทางการอ่าน ที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้และขาดการสนับสนุนในการเสาะแสวงหาความรู้เป็นจำนวนมาก
อุทยานการเรียนรู้ TK park จึงเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้กับเยาวชน ได้มาร่วมกันทำความดี แบ่งปันความสุขจากการอ่าน เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงหนังสือ และความรู้ดีๆ ให้กับผู้บกพร่องทางการมองเห็นและผู้บกพร่องทางการอ่าน ด้วยการจัดทำโครงการ "ปันเสียง" เพื่อจัดทำหนังสือเสียงในระบบเดซี (Daisy - Digital Accessible Information System) มอบให้กับห้องสมุดคนตาบอดและผู้พิการทางสื่อสิ่งพิมพ์แห่งชาติ มูลนิธิคนตาบอดไทย และศูนย์เทคโนโลยีการศึกษาเพื่อคนตาบอดมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ รวมทั้งให้บริการหนังสือเสียงในพื้นที่ของอุทยานการเรียนรู้ TK park และห้องสมุดเครือข่าย
ดร. อธิปัตย์ บำรุง ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ กำกับดูแลอุทยานการเรียนรู้ TK park กล่าวว่าการจัดทำโครงการ"ปันเสียง" เป็นการเชิญชวนให้เยาวชนอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไปจับคู่กันมาสมัครเป็นอาสาอ่านหนังสือเสียง ระบบเดซี ซึ่งเป็นการทำหนังสือเสียงที่ได้นำเอาระบบดัชนีตามโครงสร้างต่างๆ ของหนังสือ เช่น บท หน้า ย่อหน้าและบรรทัด มาใส่ไว้ในตัวชุดของหนังสือเสียงด้วย โดยใช้โปรแกรมพิเศษในการบันทึกและเรียบเรียงเสียงตามโครงสร้าง จนได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นหนังสือ Daisy ซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายหนังสือเล่ม โดยเมื่อเปิดฟังด้วยโปรแกรมที่กำหนดไว้ก็จะสามารถเลือกหน้า เลือกบทหรือแม้แต่บรรทัดได้ ทำให้ผู้บกพร่องทางการมองเห็นและผู้บกพร่องทางการอ่านสามารถเข้าถึงหนังสือเสียงได้สะดวกและได้รับความรู้ง่ายขึ้น
โดยโครงการได้จัดกิจกรรมในรูปแบบค่ายอาสาปันเสียง เริ่มรับสมัครตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2561 จำนวนทั้งหมด 10 รุ่นๆ ละประมาณ 20-22 คน ซึ่งปรากฏว่ามีเยาวชนสนใจสมัครเข้ามาเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากสามารถรับได้จำนวนจำกัด กิจกรรมนี้นอกจากเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกการเป็นจิตอาสาให้กับน้องๆ แล้วยัง เป็นโอกาสในการฝึกอบรมพัฒนาทักษะการอ่านออกเสียงอย่างถูกต้อง การใช้ซอฟต์แวร์ผลิตหนังสือเสียง และจัดทำหนังสือเสียงตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ โดยอบรมต่อเนื่องเป็นเวลา 2 วัน ขณะนี้ได้ดำเนินการมาถึงรุ่นที่ 7 และจะดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องไปจนถึงเดือนสิงหาคม 2561 ซึ่งคาดว่าจะสามารถผลิตหนังสือเสียงระบบเดซี ได้ไม่ต่ำกว่า 50 เรื่อง
สำหรับหนังสือเสียงที่เรียกว่า DAISY (Digital Accessible Information System) นี้เกิดขึ้นมาตั้งปี 2539 โดยองค์การมาตรฐานข้อมูลแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (The National Information Standards Organization) เป็นการต่อยอดจากระบบหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-book เป็นหนังสือที่ประกอบด้วยทั้งเสียง ตัวหนังสือ หรือรูปภาพเช่นเดียวกับในเล่มหนังสือ โดยส่วนต่างๆ ดังกล่าวสามารถแสดงผลไปได้พร้อมๆ กัน คล้ายๆ กับการร้องเพลงคาราโอเกะ ที่ได้ยินทั้งเสียงดนตรีและเห็นเนื้อหาไปพร้อมๆ กัน
ในความเป็นจริงแล้วหนังสือเสียงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างไรกับกลุ่มผู้บกพร่องทางการมองเห็นและผู้บกพร่องทางการอ่าน พัชรพร ไตรอังกูร บรรณารักษ์ห้องสมุดคนตาบอดและผู้พิการทางสื่อสิ่งพิมพ์แห่งชาติ มูลนิธิคนตาบอดไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีจำนวนผู้พิการทางสายตาในประเทศไทยที่ลงทะเบียนไว้มีจำนวนประมาณ 200,000 คน ส่วนใหญ่มีความพิการมาแต่กำเนิด ส่วนที่พิการภายหลัง มาจากสาเหตุ อุบัติเหตุ เบาหวาน ต้อหิน โดยผู้พิการแต่กำเนิดพัฒนาการการเรียนรู้ของเขาจะดีกว่าผู้พิการที่ตาบอดทีหลัง ใช้ชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไป การเรียนรู้ส่วนใหญ่ผ่านการสัมผัส การฟัง และแหล่งเรียนรู้ได้ดีที่สุดของเขาคือ หนังสือเสียง
"หนังสือเสียงเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญมากของผู้พิการทางสายตา เพราะนั่นคือ แหล่งการเรียนรู้ของพวกเขา นอกจากจะเป็นแหล่งเรียนรู้และพัฒนาตนเองแล้ว หนังสือเสียงยังช่วยด้านจิตใจ ลดความเครียด เป็นการพักผ่อน คนปกติดูทีวีดูหนังเพื่อผ่อนคลาย ผู้พิการทางสายตาก็ใช้หนังสือเสียงเพื่อการผ่อนคลายเช่นกัน หนังสือเสียงที่ผู้พิการทางสายตานิยมฟัง คือ นิยาย ซึ่งอยู่ในหมวดเพื่อการบันเทิง ต่อมาหมวดความรู้ เพราะเขาฟังและนำไปพัฒนา-ปรับใช้กับตนเอง"
นอกจากนี้บรรณารักษ์ห้องสมุดคนตาบอดและผู้พิการทางสื่อสิ่งพิมพ์แห่งชาติ ยังกล่าวด้วยว่า
อาสาสมัครการอ่านหนังสือเสียง 90% มาจากกิจกรรมปันเสียงที่ทางอุทยานการเรียนรู้ TK park จัดขึ้น ซึ่งเป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่ เพราะเสียงที่คุณให้เขาฟัง มันคือโอกาสของเขา โอกาสที่จะเรียนรู้วิชาชีพ โอกาสได้รับความรู้ โอกาสให้เขาพัฒนาตนเอง มันคือการแบ่งปันที่ยิ่งใหญ่ของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
ด้านศวัสมน ใจดี หรือน้องไอเดีย หนึ่งในอาสาสมัครโครงการปันเสียง ซึ่งปัจจุบันกำลังจะเข้าศึกษาต่อในชั้นปีที่ 1 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าว่า หนังสือเสียงมีความสำคัญมาก เราคนปกติ เราอ่านหนังสือเราได้เรียนรู้ ได้ความรู้ ได้ความสนุกสนานจากการอ่าน เหมือนกันค่ะ คนพิการทางสายตา เขารับรู้ได้ด้วยเสียง เขาก็ได้ความรู้ ความสนุกเช่นกัน กลับกันที่เราคนปกติเราอ่านได้เอง แต่เค้าอ่านด้วยเสียงของเรา เราต้องสร้างภาพภายในหัวให้กับเขา เขาก็จะได้รับโอกาสมากมายในชีวิตจากที่เราปันเสียงของเราเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ของเขา
นอกจากนี้น้องยังบอกว่าด้วยว่า หนังสือเสียงที่ดี ต้องเป็นเสียงธรรมชาติ เราตื่นเต้น เราเสียใจ เสียงถ่ายทอดได้ ที่สำคัญการพรรณนาโวหาร พยายามอธิบายให้เขาได้เห็นภาพที่ชัดเจน เพื่อเขาได้ต่อภาพในจินตนาการของเขาได้ เราคนปกติเห็นภาพจากหนังสือ ผู้พิการทางสายตาเขาไม่เห็นอย่างที่เราเห็น เพราะฉะนั้นการบรรยายภาพต่างๆ จะทำให้เขาประติดประต่อเรื่องราวได้ชัดเจนขึ้น
สำหรับการเข้าร่วมโครงการปันเสียงครั้งนี้ น้องไอเดียเล่าให้ฟังว่า เนื่องจากเคยเข้าร่วมโครงการหนูน้อยเล่านิทานของทีเค พาร์ค เพราะชอบอ่าน-เล่านิทาน และเคยไปต่างจังหวัดกับครอบครัวไปทำกิจกรรมเล่านิทานให้กับน้องๆ ในโรงเรียนที่ห่างไกล จึงสมัครเข้าร่วมโครงการครั้งนี้เพราะอยากอ่านหนังสือให้กับคนพิการทางสายตาได้ฟัง โดยได้ชวนน้องสาวไอซี มาเข้าร่วมโครงการเพื่อใช้เวลาที่ว่างในช่วงปิดเทอมทำประโยชน์ต่อสังคมและเป็นประโยชน์ต่อตัวเราเองด้วย เพราะการอ่านหนังสือเสียง ทำให้เราได้ความรู้เพิ่ม ได้ความเพลิดเพลิน และพัฒนาตนเองด้วย โดยเฉพาะการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ประโยชน์ที่ได้รับ คือทำให้พูดชัดขึ้น ออกเสียงได้ถูกต้อง อย่าง ส.เสือ ที่ออกเสียงผิดมาตลอด รวมทั้งการหายใจ การเว้นวรรค จากที่บันทึกเสียงรอบแรกใช้เวลาหลายชั่วโมง พอชั่วโมงการอ่านมากขึ้น ก็ช่วยให้เราออกเสียงได้ดีขึ้นเรื่อยๆ และอ่านเร็วขึ้นมากขึ้นด้วยค่ะ"