กรุงเทพฯ--20 มิ.ย.--บลจ.กสิกรไทย
นางสาวธิดาศิริ ศรีสมิต Chief Investment Officer (รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุน) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (บลจ.กสิกรไทย) เปิดเผยว่า ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ส่งผลกดดันตลาดหุ้นทั่วโลกให้ปรับตัวลดลงรวมถึงตลาดหุ้นไทย โดยดัชนี SET Index ปรับลดลงต่ำกว่า 1,700 จุด บวกกับแรงเทขายของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อเนื่องนับตั้งแต่ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ประกาศขึ้นดอกเบี้ยและยังส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นรวม 4 ครั้งภายในปีนี้ ซึ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในแง่ของเม็ดเงินลงทุนที่ไหลออกจากกลุ่มตลาดประเทศเกิดใหม่ โดยในส่วนของตลาดหุ้นไทยซึ่งถือว่ามีราคาค่อนข้างแพงก็ได้รับผลกระทบไปด้วยเช่นกัน
"สถานการณ์ดังกล่าวคาดว่าเป็นความกังวลของตลาดในระยะสั้น ซึ่งที่ผ่านมาปัจจัยเรื่องสงครามการค้ามีผลกระทบต่อไทยค่อนข้างจำกัด และปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้การปรับตัวลงของตลาดหุ้นไทย สาเหตุหลักน่าจะมาจากความกังวลของตลาดต่อแรงเทขายของนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ตามผู้ลงทุนที่สามารถลงทุนได้ในระยะยาวและรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้ค่อนข้างสูง อาจเป็นโอกาสทยอยสะสมการลงทุนในหุ้นไทยเพิ่มเติมได้ โดย มองแนวรับไว้อยู่ที่ 1,600-1,650 จุด ส่วนผู้ที่รับความผันผวนระยะสั้นไม่ได้ แนะนำให้ชะลอการลงทุนเพื่อรอดูความชัดเจน ทั้งนี้บลจ.กสิกรไทยยังเชื่อว่าหุ้นไทยจะสามารถปรับตัวกลับขึ้นมาได้ในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ โดยยังคงเป้าหมายดัชนีปลายปีนี้อยู่ที่ระดับ 1,800 - 1,850 จุด บนปัจจัยพื้นฐานที่ระดับ P/E ปี 2561 ประมาณ 16.3-16.8 เท่า" นางสาวธิดาศิริกล่าว
นางสาวธิดาศิริกล่าวต่อไปว่า บลจ.กสิกรไทยขอนำเสนอทางเลือกแก่ผู้ลงทุนที่ต้องการโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีและช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุนเฉพาะในหุ้นเพียงอย่างเดียว อาจเลือกลงทุนกับกองทุนที่มีนโยบายแบบผสมแทน ได้แก่ กองทุนเปิดเค แพลน 3 (K-PLAN 3) ที่มีนโยบายกระจายการลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภท (Multi-asset) ทั้งในและต่างประเทศ อาทิ หุ้น ตราสารหนี้ เงินฝาก กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ หน่วยทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) และทองคำ โดยกองทุนจะลงทุนหุ้นสูงสุดไม่เกิน 55% และลงทุนในต่างประเทศไม่เกิน 30% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน (NAV) โดยมีการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนไม่น้อยกว่า 90% ทั้งนี้ผู้จัดการกองทุนจะพิจารณาปรับเพิ่มลดน้ำหนักการลงทุนในแต่ละสินทรัพย์ให้มีความสอดคล้องเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลา จึงเหมาะกับผู้ลงทุนที่ไม่มีเวลาติดตามสถานการณ์ด้วยตนเอง แต่ยังต้องการโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีอย่างสม่ำเสมอ และสามารถรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้ในระดับปานกลางถึงค่อนข้างสูง ส่วนผู้ที่รับความเสี่ยงได้ต่ำถึงปานกลางอาจเลือกลงทุนกับกองทุนเปิด เค แพลน 2 (K-PLAN 2) ซึ่งจะมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นรองลงมา โดยมีนโยบายลงทุนในหุ้นได้สูงสุดไม่เกิน 30% ที่เหลือจะลงทุนในตราสารหนี้ และสามารถลงทุนในต่างประเทศได้ไม่เกิน 30% ของ NAV
ด้านผลการดำเนินที่ผ่านมาของกองทุน K-PLAN3 สามารถสร้างผลการดำเนินงานที่โดดเด่นติดอันดับ Top Quartile อย่างสม่ำเสมอ โดยผลการดำเนินงาน ณ วันที่ 31 พ.ค 2561 มีผลตอบแทน 1 ปีย้อนหลังอยู่ที่ 6.68% ต่อปี และผลตอบแทน 3 ปีย้อนหลังอยู่ที่ 4.99% ต่อปี ขณะที่เกณฑ์มาตรฐานอยู่ที่ 6.78% ต่อปี และ 4.48% ต่อปี ตามลำดับ ส่วนกองทุน K-PLAN2 มีผลตอบแทน 1 ปีย้อนหลังอยู่ที่ 3.99% ต่อปี และผลตอบแทน 3 ปีย้อนหลังอยู่ที่ 3.15% ต่อปี ขณะที่เกณฑ์มาตรฐานอยู่ที่ 4.25% ต่อปี และ 3.22% ต่อปี ตามลำดับ นอกจากนี้กองทุน K-PLAN2 และ K-PLAN3 ยังเป็นกองทุนที่ได้รับการจัดอันดับ 5 ดาวจากมอร์นิ่งสตาร์ (ข้อมูลจาก Morningstar(R) วันที่ 31 พ.ค.61)
ผู้ที่สนใจลงทุนกับกองทุน K-PLAN2 และ K-PLAN3 ของบลจ. กสิกรไทย สามารถเริ่มต้นลงทุนขั้นต่ำ 500 บาท โดยขอรับหนังสือชี้ชวน และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ธนาคารกสิกรไทยทุกสาขา หรือสอบถาม KAsset Contact Center 0 2673 3888
กองทุน 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี (ต่อปี) 3 ปี (ต่อปี) 5ปี (ต่อปี)
K-PLAN2 -2.01% -0.22% 3.99% 3.15% 3.04%
เกณฑ์มาตรฐาน -0.86% 1.07% 4.25% 3.22% 3.44%
K-PLAN3 -3.28% -0.05% 6.68% 4.99% 3.85%
เกณฑ์มาตรฐาน -1.65% 1.64% 6.78% 4.48% 3.98%
ที่มา: บลจ.กสิกรไทย, ข้อมูล ณ วันที่ 31 พ.ค. 61
ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวมมิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
ผู้ลงทุนโปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงของกองทุน ได้ที่ www.kasikornasset.com หรือ บลจ.กสิกรไทย หรือธนาคารกสิกรไทยทุกสาขา หรือขอข้อมูลดังกล่าวจากบุคคลที่เสนอขายกองทุนก่อนตัดสินใจลงทุน กองทุน K-PLAN2 และ K-PLAN3 ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าเงินลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ แต่จะไม่ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับเงินลงทุนในตราสารทุนในต่างประเทศ