กรุงเทพฯ--20 มิ.ย.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม
เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2561 ที่ห้องประชุมคณะรัฐมนตรี ชั้น 2 อาคารสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการวัฒนธรรมแหงชาติ(กวช.) กล่าวภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการ กวช. ครั้งที่ 3/2561 ว่า ที่ประชุมได้พิจารณากรอบคำของบประมาณการรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ของกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรมตามที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เสนอ โดยเบื้องต้นที่ประชุมมีมติเห็นชอบคำของบประมาณกองทุนฯ โดยมอบสวธ.ไปปรับกรอบคำของบฯ โดยให้เพิ่มเติมโครงการและกิจกรรมที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมศิลปินแห่งชาติและศิลปินพื้นบ้าน รวมทั้งให้ สวธ.รวบรวมองค์ความรู้และผลงานของศิลปินแห่งชาติและศิลปินพื้นบ้านในภาคต่างๆ เพื่อเก็บรักษาไว้เป็นมรดกทางภูมิปัญญาให้คนรุ่นหลังได้มีโอกาสชื่นชมและศึกษาเรียนรู้ นอกจากนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้วธ.ไปศึกษาแนวทางการดูแลลิขสิทธิ์ผลงานของศิลปินไทยสาขาต่างๆ เพื่อให้ศิลปินและทายาทได้รับประโยชน์จากผลงานอย่างเหมาะสม
ทั้งนี้ ปีงบประมาณ 2562 กองทุนฯ จะขับเคลื่อนภารกิจและดำเนินโครงการภายใต้ 4 ยุทธศาสตร์ 1.การส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานด้านวัฒนธรรม อาทิ โครงการมหกรรมมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม การพัฒนาแหล่งเรียนรู้บ้านศิลปินแห่งชาติ และผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมสู่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เป็นต้น 2.บริหารจัดการด้านสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ของศิลปินแห่งชาติและผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม เช่น โครงการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับศิลปิน 3.การบริหารจัดการกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม อาทิ การบริหารสารสนเทศและคลังข้อมูลด้านวัฒนธรรม และ 4.เพิ่มประสิทธิภาพการระดมทุนและเพิ่มแหล่งทุนของกองทุนฯ เช่น การแสดงทางวัฒนธรรม
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ที่ประชุมรับทราบโครงการและภารกิจสำคัญของกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ ขณะนี้ วธ.อยู่ระหว่างยกร่างกรอบทิศทางการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูประเทศ โดยกำหนดยุทธศาสตร์ วธ.ระยะ 20 ปี ภายใต้วิสัยทัศน์ "วัฒนธรรมสร้างคนดี สร้างสังคมดี สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อเป็นรากฐานพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน" และเตรียมขับเคลื่อนการดำเนินงานที่มีโครงการสำคัญรองรับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน 1.ด้านความมั่นคง อาทิ โครงการเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ 2.ด้านความสามารถในการแข่งขัน อาทิ การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) ตลาดวัฒนธรรม ถนนสายวัฒนธรรม 3.ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ อาทิ ชุมชนคุณธรรมขับเคลื่อนด้วยพลังบวร และการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนเล่นดนตรีอย่างน้อย 1 ชนิด
4. ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม อาทิ การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม (อารยสถาปัตย์) 5.ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ รุกขมรดกของแผ่นดินใต้ร่มพระบารมี 6.ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการจัดการบริหารภาครัฐ เช่น การดำเนินการจัดทำระบบศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ Digital Culture (Big Data) และการพัฒนาระบบข้อมูลเสมือนจริงรากวัฒนธรรมตามวีถีไทยบนอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ (Culture Mobile VR and AR)
นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบโครงการสำคัญของ วธ. ที่รองรับกับแผนปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน 1.ด้านการเมือง เช่น การส่งเสริมภาคประชาชนให้มีบทบาทและส่วนร่วมในการสร้างรัฐธรรมธิปไตย 2.ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ได้แก่ การพัฒนาระบบข้อมูลและเทคโนโลยีดิจิทัลด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม 3.ด้านกฎหมาย การปรับปรุงแก้ไขและพัฒนากฎหมาย 2 ฉบับ คือ ร่างพ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ. ...และร่างพ.ร.บ.หอสมุดแห่งชาติ พ.ศ. ... 4.ด้านเศรษฐกิจ อาทิ การพัฒนาพื้นที่โบราณสถานและแหล่งโบราณคดีเพื่อเปิดแหล่งส่งเสริมการเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม 5.ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ รุกขมรดกของแผ่นดินใต้ร่มพระบารมี 6.ด้านสื่อสารมวลชนเทคโนโลยีสารสนเทศ อาทิ งานสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ 7.ด้านสังคม อาทิ ชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และ 8.ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ อย่างไรก็ตาม เมื่อวธ.ยกร่างกรอบทิศทางการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ จะเสนอต่อคณะกรรมการกวช.พิจารณาต่อไป