กรุงเทพฯ--20 มิ.ย.--สำนักงาน ป.ป.ช.
สำนักงาน ป.ป.ช. กำหนดจัดงานสัมมนา "แนวทางสร้างความโปร่งใส...สู่สังคมใหม่ไร้สินบน" ในวันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2561 เวลา 09.00 - 15.30 น. ณ โรงแรม เบสท์เวสเทิร์น พลัส แวนด้า แกรนด์ ถนนแจ้งวัฒนะ จังหวัดนนทบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรา 123/5 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 ให้แก่ภาคธุรกิจเอกชนได้รับทราบ และสร้างกระแสรณรงค์และผลักดันให้ภาคธุรกิจเอกชนจัดทำมาตรการควบคุมภายในของตนเอง ตลอดจนเพื่อเป็นการบูรณาการความรู้และความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในการต่อต้านการทุจริตและสินบนทุกรูปแบบ
ภายในงานได้รับเกียรติจากพลตำรวจเอก สถาพร หลาวทอง กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานในพิธีเปิดงาน และต่อด้วยการเสวนา เรื่อง "กลไกการขับเคลื่อนมาตรการป้องกันการให้สินบน" โดย พลตำรวจเอก สถาพร หลาวทอง กรรมการ ป.ป.ช. นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นางสาวจีรนันท์ เขตพงศ์ ผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 และในช่วงบ่ายจะเป็นการการอภิปราย เรื่อง "ปัญหาการทุจริตติดสินบน ประสบการณ์ และแนวทางแก้ไข" โดยผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย นายเสริมสกุล คล้ายแก้ว ผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นายกุลเวช เจนวัฒนวิทย์ ที่ปรึกษาโครงการ CAC สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย นายอัครกิตติ์ กีรติธนาไชยยศ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายและแผนและการต่างประเทศ สำนักงาน ป.ป.ช. นางสาวรัตนาวดี เกียรติซิมกุล ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาองค์กร บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) ดำเนินการเสวนาโดย นางสาวจีรนันท์ เขตพงศ์ ผู้ประกาศข่าว สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ออกประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่องแนวทางการกำหนดมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมสำหรับนิติบุคคลในการป้องกันการให้สินบนหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2560 พร้อมทั้งออกคู่มือการปฏิบัติ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 123/5 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 เพื่อให้ภาคเอกชนได้รับทราบและส่งเสริมให้นิติบุคคลกำหนดมาตรการควบคุมภายในเพื่อป้องกันการให้สินบน แก่เจ้าหน้าที่ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ไทยหรือต่างประเทศ มีการกำหนดโทษปรับเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพ ของนิติบุคคลที่ไม่อาจรับโทษจำคุกได้ โดยมีอัตราโทษปรับจากค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหรือประโยชน์ที่นิติบุคคลนั้นได้รับซึ่งกรณีที่เป็นการให้สินบนในโครงการขนาดใหญ่อาจทำให้มีโทษปรับทางการเงินเป็นจำนวนหลาย ร้อยล้านบาท โดยมาตรการลงโทษทางการเงินนี้จะทำให้รัฐได้รับการเยียวยาความเสียหาย เพื่อเอาประโยชน์ ที่นิติบุคคลไม่ควรได้กลับคืน และเพื่อเป็นการป้องปรามการกระทำความผิด
สำหรับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 บัญญัติมาตรา 123/5 ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ เพื่อจูงใจให้กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับ ไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับ นิติบุคคลใดและกระทำไปเพื่อประโยชน์ของนิติบุคคลนั้น โดยนิติบุคคลดังกล่าวไม่มีมาตรการควบคุมภายใน ที่เหมาะสมเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำความผิดนั้น นิติบุคคลนั้นมีความผิดตามมาตรานี้ และต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งเท่าแต่ไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหรือประโยชน์ที่ได้รับ บุคคลที่มีความเกี่ยวข้อง กับนิติบุคคลตามวรรคสอง ให้หมายความถึง ลูกจ้าง ตัวแทน บริษัทในเครือ หรือบุคคลใดซึ่งกระทำการเพื่อหรือ ในนามของนิติบุคคลนั้น ไม่ว่าจะมีอำนาจหน้าที่ในการนั้นหรือไม่ก็ตาม