กรุงเทพฯ--20 มิ.ย.--สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
สสว. กสอ. และ SME Bank ผนึกกำลังช่วยยกระดับผู้ประกอบการกลุ่ม Micro SMEs ด้านบัญชีและการเงิน จัดอบรมสัมมนาตามมาตรการส่งเสริมพัฒนาความรู้ด้านการบริหารจัดการการเงินภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจระดับเติบโต ปีงบประมาณ 2561 เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้ก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในอนาคต
นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงฯ ได้กำหนดมาตรการพิเศษเพื่อขับเคลื่อน SMEs สู่ยุค 4.0 ในด้านการส่งเสริมพัฒนาและด้านการเงิน เพื่อให้การช่วยเหลือ ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ให้มีศักยภาพและมีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank) จึงร่วมกันดำเนินการตามมาตรการพัฒนาความรู้ด้านการบริหารจัดการการเงิน โดยจัดอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อให้ความรู้ในด้านบัญชีการเงิน Financial Literacy เป็นครั้งแรก และทราบว่าจะมีการจัดงานอีกหลายครั้ง ในต่างจังหวัด ซึ่งคาดว่าจะมีการบูรณาการการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนา SMEs ทั้งภาครัฐและเอกชนอีกหลายหน่วยงาน ในหลากหลายมิติ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดีมาก และผมเองหวังว่าการจัดกิจกรรมอบรมสัมมนานี้จะเป็นการจุดประกายให้ผู้ประกอบการ SMEs ไทย เห็นความสำคัญของการเข้าสู่ระบบบัญชีเดียวในอนาคต อันจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่งผลให้ผู้ประกอบการ SMEs เกิดความเข้มแข็งและดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจของประเทศได้
นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและกลางย่อม (สสว.) กล่าวว่า ตาม สสว. ได้ดำเนินโครงการเพื่อส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ในกลุ่มที่มีศักยภาพ ภายใต้ชื่อ "โครงการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจระดับเติบโต (SME Strong/Regular Level)" มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 โดยมุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการ SMEs ให้สูงขึ้น สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าหรือบริการ สร้างให้เกิดมาตรฐานและคุณภาพในกระบวนการผลิต รวมทั้งผลักดันให้ผู้ประกอบการได้รับมาตรฐานสินค้าหรือบริการที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งที่ผ่านมา สสว. ได้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ไปแล้วกว่า 20,000 ราย และในปี 2561 สสว. ได้ขยายการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการไปยังกลุ่มวิสาหกิจขนาดย่อม หรือ กลุ่ม Micro SMEs ที่ต้องการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อก้าวไปสู่การเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในอนาคต ผ่านการจัดกิจกรรมอบรมสัมมนาเพื่อให้ความรู้ในด้านการทำบัญชี การเงิน และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อขยายธุรกิจ เป็นต้น
จากเป้าหมายดังกล่าว สสว. จึงเล็งเห็นว่า เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้รับความรู้ในด้านการดำเนินธุรกิจโดยเฉพาะด้านบัญชีและการเงินตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ และเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการพิเศษเพื่อขับเคลื่อน SMEs สู่ยุค 4.0 ของกระทรวงอุตสาหกรรม ในการส่งเสริมพัฒนาความรู้ด้านการบริหารจัดการการเงิน (Financial Literacy) ภายใต้โครงการเสริมแกร่ง SMEs รอบรู้การเงิน ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งทุนเพื่อขยายธุรกิจ และผลักดันให้เข้าสู่ระบบบัญชีเดียวและสามารถยกระดับเข้าสู่ตลาดทุนได้ในอนาคต
ดังนั้น สสว. จึงร่วมมือกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) กำหนดจัดอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการตามมาตรการส่งเสริมพัฒนาความรู้ด้านการบริหารจัดการการเงิน (Financial Literacy) ภายใต้หัวข้อ "เสริมแกร่ง SMEs รอบรู้เรื่องบัญชีและการเงิน" ขึ้น เพื่อเสริมความเข้มแข็งให้กับ SMEs ให้มีความรอบรู้ในด้านการเงิน และเพื่อเตรียมความพร้อมให้เข้าถึงแหล่งทุนและปรับปรุงระบบบัญชีเพื่อผลักดันสู่ระบบบัญชีเดียวได้ต่อไป
ทั้งนี้ เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ SME ในด้านบัญชี การเงิน และการวิเคราะห์งบการเงินเพื่อประโยชน์ในการวางแผนทางบัญชีและการเงินของธุรกิจ ได้ฝึกปฏิบัติการด้านบัญชีและการเงินให้แก่ผู้ประกอบการ SME เพื่อประโยชน์ในการนำไปปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ SME ในด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยภายในงานรับสมัครผู้ประกอบการ SME เข้าร่วมกิจกรรมเสริมสร้างสมรรถนะเชิงลึกต่อไป
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการ SME ที่สามารถเข้าร่วมอบรมได้นั้น จะต้องเป็นสมาชิก สสว. ทั้งที่เป็นนิติบุคคล บุคคลธรรมดา หรือบุคคลธรรมดาที่จดทะเบียนกับหน่วยงานของรัฐ ซึ่งยังดำเนินธุรกิจปกติ (ไม่น้อยกว่า 3 ปี) และต้องการเข้าสู่ระบบบัญชีเดียว และต้องการได้รับความรู้ในด้านบัญชี การเงิน และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน สามารถเข้ารับการอบรมได้โดยจะจัดทั้งสิ้น 5 ครั้งในทุกภูมิภาคตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปถึงเดือนสิงหาคม 2561 โดยคาดว่าเข้าร่วมโครงการกว่า 1,000 ราย
สำหรับการจัดงานในวันนี้ ซึ่งเป็นการจัดงานครั้งที่ 1 สสว. ได้รับการตอบรับที่ดีจากท่านผู้ประกอบการเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของหน่วยงานพันธมิตรต่าง ๆ อาทิ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank) /ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) / ธนาคารออมสิน / สมาคมธนาคารไทย / สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย / หอการค้าไทย / สมาคมสำนักงานบัญชีคุณภาพ / บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด / หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV) กระทรวงอุตสาหกรรม ในการร่วมประชาสัมพันธ์เชิญชวนผู้ประกอบการเข้าร่วมงาน ร่วมเป็นวิทยากร และร่วมออกบูธภายในงาน
ข้อมูลเพิ่มเติม : มาตรการส่งเสริมและช่วยเหลือ SMEs 9 มาตรการ
1. Industry Transformation Center (ITC) มุ่งเปิดตัวศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมทั่วประเทศ 23 แห่ง เพื่อให้บริการเครื่องจักรกลาง และพื้นที่ Co Working Space รวมทั้งมีที่ปรึกษาแนะนำเชิงลึก ซึ่งจะเป็นการยกระดับนวัตกรรมสู่การผลิตเชิงพาณิชย์
2. SME Support Center เปิดศูนย์สนับสนุนช่วยเหลือ SMEs ทำหน้าที่เชื่อมโยงศูนย์สนับสนุน SMEs 248 แห่งทั่วประเทศ รวมความช่วยเหลือของทุกหน่วยงานผ่านระบบดิจิทัล บริการครบในจุดเดียว
3. Train The Coach เร่งพัฒนาโค้ชหรือที่ปรึกษาเพื่อให้เข้าไปช่วยให้คำปรึกษา SMEs ในเรื่องการปรับโมเดลธุรกิจ แนะนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมและปูพื้นเทคโนโลยีสู่ยุค 4.0 และที่ปรึกษาในการแก้ปัญหาทั่วไปทางธุรกิจ
4. SME Big Data พัฒนาฐานข้อมูล SMEs ของประเทศ ที่สามารถใช้วิเคราะห์โครงสร้างและสถานการณ์ SMEs ผ่าน Data Analytic พร้อมสร้างช่องทางให้ SME เข้าถึงบริการของภาครัฐและเครือข่ายอย่างครบถ้วนทุกที่ทุกเวลา
5. Big Brothers โครงการพี่ช่วยน้อง โดยร่วมมือกับบริษัทและองค์กรชั้นนำระดับประเทศและระดับโลก เพื่อช่วยเหลือ SMEs ในด้านการเป็นที่ปรึกษาธุรกิจ และยกระดับเทคโนโลยี
6. Digital Value Chain ผลักดัน SMEs สู่ห่วงโซ่การผลิตโลกผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม B2B โดยจะพัฒนาระบบเว็บ T-Good Tech ที่เชื่อมต่อ J-Good Tech ผ่านทางการสนับสนุนของกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) ของญี่ปุ่น และในอีกหลาย ๆ ประเทศ
7. SME Standard Up ยกระดับ SMEs สู่มาตรฐานที่เหมาะสมโดยพัฒนามาตรฐานเฉพาะ (มอก.S) ให้เหมาะสมกับระดับศักยภาพและตรงความต้องการของตลาด โดยจะมุ่งเป้าเริ่มต้นที่กลุ่มสินค้าท่องเที่ยวเป็นลำดับแรก
8. Creative Industry Village การยกระดับเศรษฐกิจฐานชุมชน ผ่านโครงการยกระดับอุตสาหกรรมชุมชนเชื่อมโยงการท่องเที่ยว (CIV 4.0) โดยจะพัฒนาศักยภาพชุมชนค้นหาอัตลักษณ์ชุมชน ทำแผนการพัฒนาและบริหารจัดการอย่างยั่งยืน รวมทั้งผลักดันการแปรรูปผลิตผลการเกษตร ปั้น SMEs เกษตรโดยมีเป้าหมายยกระดับเศรษฐกิจฐานรากชุมชนมีรายได้เพิ่มไม่น้อยกว่า 25% และ
9. Financial Literacy โครงการเสริมแกร่งให้แก่ SMEs รอบรู้ด้านบัญชีและการเงิน ซึ่งจะเป็นการเสริมความรู้ในด้านการเงินและบัญชีทั้งก่อนกู้และหลังกู้ เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs มีบัญชีที่เป็นระบบ มุ่งเป้าสู่ระบบบัญชีเดียวในอนาคต