กรุงเทพฯ--21 มิ.ย.--คอนจังค์ชั่นพับลิครีเลชั่นส์
สงคราม ความรุนแรง และการประหัตประหาร ส่งผลให้สถิติการถูกบังคับให้พลัดถิ่นสูงที่สุดในปี พ.ศ.2560 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุจากวิกฤติในสาธารณรัฐคองโก สงครามในซูดานใต้ และการลี้ภัยในบังคลาเทศจากเมียนมาร์ของชาวโรฮิงญาหลายแสนคน โดยประเทศกำลังพัฒนาได้รับผลกระทบมากที่สุด
จากรายงานแนวโน้มโลก (Global Trends) เผยแพร่โดย UNHCR ในวันนี้ แสดงถึงจำนวนผู้พลัดถิ่นเมื่อสิ้นปี พ.ศ. 2560 สูงถึง 68.5 ล้านคน ประกอบด้วย 16.2 ล้านคนที่กลายเป็นผู้พลัดถิ่นในปีพ.ศ.2560 จากการพลัดถิ่นเป็นครั้งแรก หรือซ้ำหลายครั้งก็ตาม แสดงว่าปริมาณของผู้คนที่ต้องย้ายถิ่นมีจำนวนมหาศาล เทียบเท่ากับ 44,500 คน ต้องพลัดถิ่นต่อวัน หรือ ทุก 2 วินาทีจะมีคน 1 คนกลายเป็นผู้พลัดถิ่น
ผู้ลี้ภัย ที่ต้องหนีจากประเทศตัวเองเพราะความขัดแย้ง และการประหัตประหารถือเป็นจำนวน 25.4 ล้านจาก 68.5 ล้านคน ซึ่งสูงกว่าปีพ.ศ. 2559 ถึง 2.9 ล้านคน ถือเป็นการเติบโตที่สูงที่สุดที่UNHCR เคยพบในรอบ 1 ปีส่วนผู้ขอลี้ภัย คือผู้ที่รอผลการสมัครเพื่อได้รับสถานภาพผู้ลี้ภัยถึงวันที่ 31 ธันวาคมพ.ศ.2560 เพิ่มสูงขึ้น 300,000 คนเป็นจำนวนทั้งหมด 3.1 ล้านคนสำหรับผู้พลัดถิ่นภายในประเทศมีจำนวน 40 ล้านคน ลดลงเล็กน้อยจาก 40.3 ล้านคนในปีพ.ศ. 2560
โดยสรุป โลกรองรับผู้พลัดถิ่นในปีพ.ศ. 2560 เทียบเท่าประชากรของประเทศไทย โดยเฉลี่ยสำหรับทุกประเทศในโลก 1 ใน 110 คน คือผู้พลัดถิ่น
"เรากำลังถึงจุดเปลี่ยน โดยความสำเร็จในการจัดการกับสถานการณ์ผู้ถูกบังคับให้พลัดถิ่นทั่วโลก ต้องการแนวทางใหม่ และครอบคลุมทุกด้าน เพื่อที่ประเทศ และชุมชนใดไม่ต้องถูกทิ้งให้มอบความช่วยเหลือเพียงลำพัง" นาย ฟิลิปโป กรานดี ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ กล่าว "แต่เรายังมีความหวัง โดยขณะนี้ 14 ประเทศ ได้ริเริ่มจัดทำระบบเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ผู้ลี้ภัย และในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ข้อตกลงโลกเพื่อผู้ลี้ภัย (Global Compact on Refugees) ก็พร้อมนำเสนอเพื่อได้การรับรองจากสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติวันนี้ ก่อนวันผู้ลี้ภัยโลก 1 วัน สิ่งที่ผมอยากสื่อสารถึงประเทศสมาชิกคือขอให้ร่วมสนับสนุนข้อตกลงนี้ ไม่มีใครเลือกที่จะเป็นผู้ลี้ภัย แต่พวกเราเลือกได้ว่าจะช่วยเหลือผู้ลี้ภัยอย่างไร"
รายงานแนวโน้มโลกของ UNHCR จะถูกเผยแพร่ทั่วโลกทุกปีก่อนวันผู้ลี้ภัยโลก (20 มิถุนายน) ซึ่งรวบรวมสถิติด้านการพลัดถิ่นจากข้อมูลของ UNHCR รัฐบาล และองค์กรพันธมิตรต่างๆ รายงานฉบับนี้ ไม่ได้ตรวจสอบสถานการณ์การลี้ภัยทั่วโลก ซึ่ง UNHCR จัดทำรายงานฉบับแยก โดยสิ่งที่เห็นอย่างต่อเนื่องในปี พ.ศ. 2560 คือ การบังคับให้เดินทางกลับประเทศ การเชื่อมโยงเรื่องการเมืองและการทำให้ผู้ลี้ภัยเป็นแพะรับบาป ผู้ลี้ภัยถูกกักขัง หรือปฏิเสธที่จะรับเข้าทำงาน และในหลายๆ ประเทศปฏิเสธแม้แต่จะใช้คำว่า "ผู้ลี้ภัย"
อย่างไรก็ตาม รายงานแนวโน้มโลก เปิดเผยข้อมูลเชิงลึกเปรียบเทียบระหว่างสิ่งที่คนทั่วไปเข้าใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงเกี่ยวกับการถูกบังคับให้พลัดถิ่น และหลายครั้งสิ่งที่คนทั่วไปเข้าใจ กับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงก็ไม่ได้เป็นไปในทางเดียวกัน
ตัวอย่างเช่น ความคิดที่ว่าผู้พลัดถิ่นในโลกส่วนใหญ่พักพิงในประเทศที่พัฒนาแล้วทางเหนือ ข้อมูลในรายงานแสดงให้เห็นความจริงในทางตรงข้าม โดยร้อยละ 85 ของผู้ลี้ภัยอาศัยในประเทศกำลังพัฒนา หลายประเทศมีฐานะยากจน และได้รับการสนับสนุนเพียงเล็กน้อยในการมอบความช่วยเหลือต่อประชากรผู้ลี้ภัย และ 4 ใน 5 ของผู้ลี้ภัยก็อาศัยในประเทศเพื่อนบ้านของตน
การเดินทางลี้ภัยระหว่างพรมแดนในจำนวนมหาศาล ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่พบบ่อยท่ามกลางจำนวนผู้พลัดถิ่นทั่วโลก 68 ล้านคน เกือบ 2 ใน 3 ของผู้ที่ถูกบังคับให้หนี คือผู้พลัดถิ่นภายในประเทศที่ยังไม่ได้ละทิ้งประเทศบ้านเกิดของตนเอง สำหรับสถิติผู้ลี้ภัย 25.4 ล้านคน เพียง 1 ใน 5 คือ ผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ ที่ได้รับการดูแลจาก UNRWA สำหรับที่ผู้ลี้ภัยที่เหลืออยู่ในความรับผิดชอบของ UNHCR โดย 2 ใน 3 ของผู้ลี้ภัยมาจาก 5 ประเทศ ได้แก่ ซีเรีย อัฟกานิสถาน ซูดานใต้ เมียนมาร์ และโซมาเลีย การสิ้นสุดของความขัดแย้งในประเทศเหล่านี้มีอิทธิพลอย่างสูงต่อภาพรวมของสถานการณ์การพลัดถิ่นทั่วโลก
ข้อมูลเชิงลึกอีก 2 ด้านจากรายงานแนวโน้มโลก คือ ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่อาศัยในเมือง (ร้อยละ 58) ไม่ใช่ในค่ายผู้ลี้ภัย หรือชนบท และประชากรพลัดถิ่นทั่วโลกมีอายุน้อย โดยร้อยละ 53 คือเด็ก รวมถึงเด็กที่ไม่มีพ่อแม่ หรือพลัดพรากจากครอบครัวอีกด้วย
ในขณะที่หลายประเทศทำให้เกิดการพลัดถิ่นจำนวนมาก แต่ประเทศที่รองรับผู้พลัดถิ่นในปริมาณที่สูงยังมีจำนวนน้อย ประเทศตุรกี ยังคงเป็นประเทศที่ให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยสูงที่สุดในโลก คือ ผู้ลี้ภัยจำนวน 3.5 ล้านคน ส่วนใหญ่คือ ชาวซีเรีย ส่วนประเทศเลบานอน ยังคงเป็นประเทศที่มอบที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยในสัดส่วนที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรของประเทศ โดยรวม ร้อยละ 63 ของผู้ลี้ภัยที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ UNHCR มากจากเพียง 10 ประเทศ
เป็นเรื่องน่าเศร้าที่การหาทางออกสำหรับผู้ลี้ภัยทุกคนยังเป็นไปไม่ได้ สงคราม และความขัดแย้งยังเป็นปัจจัยหลักโดยความคืบหน้าไปสู่สันติภาพเท่าที่เห็นยังคงริบหรี่ ในปีพ.ศ. 2560 ผู้คนประมาณ 5 ล้านคนสามารถเดินทางกลับบ้านโดยสมัครใจ โดยส่วนใหญ่เป็นการเดินทางกลับหลังจากพลัดถิ่นภายในประเทศ แต่ท่ามกลางกลุ่มคนเหล่านี้ ยังมีคนที่ต้องเดินทางกลับภายใต้สถานการณ์ที่เสี่ยง และเปราะบาง เนื่องจากโอกาสในการตั้งถิ่นฐานใหม่มีจำนวนลดลง จำนวนของผู้ลี้ภัยที่ได้รับการตั้งถิ่นฐานใหม่จึงลดลงกว่าร้อยละ 40 อยู่ที่จำนวน 100,000 คนเท่านั้น