กรุงเทพฯ--21 มิ.ย.--กรมส่งเสริมสหกรณ์
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนผ่านการประชุมแบบวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ ไปยังสหกรณ์จังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คณะกรรมการส่งเสริมและกำกับกิจการสหกรณ์การเงินขนาดใหญ่ พ.ศ. ... ซึ่งถือเป็นกฎหมายหลักที่จะเข้ามาดูแลสหกรณ์การเงินขนาดใหญ่ ทั้งที่เป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิต ยูเนี่ยน ที่มีทุนการดำเนินงานตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป โดยยืนยันว่า รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะสร้างความมั่นคงทางด้านการเงินให้กับขบวนการสหกรณ์
สำหรับการผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมา เนื่องจากเห็นว่าสหกรณ์มีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากปัจจุบันสหกรณ์เป็นองค์กรที่มีส่วนช่วยดูแลความเป็นอยู่ของประชาชน ในทุกสาขาอาชีพ ปริมาณธุรกิจในภาพรวมของสหกรณ์ทั่วประเทศ มีประมาณ 2.5 ล้านล้านบาท และในสหกรณ์ บางแห่งมีเงินฝากอยู่จำนวนมาก หากไม่มีแนวทางในการบริหารจัดการที่ดี ก็อาจส่งผลทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้ ดังนั้น จึงคิดว่าขณะนี้มีความเหมาะสมที่รัฐบาลต้องวางกรอบของการขับเคลื่อนสหกรณ์ไปข้างหน้าเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ด้วยการยกร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมากำกับดูแลสหกรณ์
สำหรับสาระสำคัญของกฎหมาย กำหนดให้มีองค์กรเฉพาะที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยนขนาดใหญ่ ซึ่งอาจตั้งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่เป็นอิสระ คล้ายกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ที่มีคณะกรรมการเข้ามาทำหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์ในการกำกับการประกอบกิจการและสนับสนุนการดำเนินงานของสหกรณ์การเงินขนาดใหญ่ พร้อมทั้ง มีการจัดตั้งกองทุนคุ้มครองเงินฝาก เพื่อคุ้มครองเงินฝากของผู้ฝากเงินในสหกรณ์การเงินขนาดใหญ่อีกด้วย
"ขณะนี้รัฐบาลต้องการสร้างความยั่งยืนให้กับสหกรณ์ขนาดใหญ่ และมีความจำเป็นต้องดูแลเนื่องจากในปัจจุบันสหกรณ์มีความซับซ้อนทางการเงินมากกว่าในอดีต เพื่อให้เกิดความมั่นคงและปลอดภัยต่อสมาชิก ซึ่งการจัดทำกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมา ไม่ใช่เรื่องของการออกเกณฑ์มากำกับเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องดูแลและพัฒนา ให้สหกรณ์สามารถเติบโตได้ในระยะยาวด้วย ดังนั้น จึงเป็นที่มาของการผลักดันกฎหมายฉบับนี้" นายกอบศักดิ์ กล่าว
นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า หลังจากได้รับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในร่างพรบ.ฉบับดังกล่าวแล้ว จากนี้ไปจะรวบรวมความคิดเห็น เพื่อให้ได้ข้อเสนอที่ดีที่สุด นำมาผนวกรวมกับร่างกฎหมายให้เกิดความสมบูรณ์ โดยกระบวนการทำกฎหมายฉบับนี้ รัฐบาลเปิดโอกาสให้สหกรณ์ต่าง ๆ ได้แสดงความเห็นอย่างเต็มที่ เนื่องจากต้องการให้ทุกสหกรณ์มีส่วนร่วมในการร่างกฎหมายนี้ร่วมกัน เพื่อช่วยยกระดับสหกรณ์ของตัวเองขึ้นมาและเป็นองค์กรที่จะช่วยสนับสนุนการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต
อย่างไรก็ตามจากการเปิดรับฟังความคิดเห็น พบว่า ผู้แทนสหกรณ์บางรายมีความคิดเห็นต่าง และไม่ต้องการให้ออกกฎหมายฉบันนี้ และอยากให้ใช้กฎหมายฉบับเดิมกำกับดูแล เพราะเกรงว่าจะเกิดปัญหาการซับซ้อน ซึ่งไม่อยากให้สหกรณ์ต่างๆ เกิดความกังวลใจ และยืนยันว่ารัฐบาลพร้อมรับฟังปัญหา และพยายามหาทางช่วยพัฒนาสหกรณ์ให้เติบโตร่วมกัน