กรุงเทพฯ--21 มิ.ย.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายมนัส กำเนิดมณี รองอธิบดีกรมชลประทาน ร่วมกิจกรรการอบรมวิศวกรชลประทานร่วมกับเกษตรกร "พัฒนาระบบกสิกรรมด้วยศาสตร์พระราชา รุ่นที่ 2 ณ ห้องอบรมเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ..ลพบุรี นายวิวัฒน์กล่าวว่า ลุ่มน้ำป่าสักเป็นลุ่มน้ำที่บริหารยากที่สุด เพราะมีความลาดชันสูงและมีพื้นที่แคบยาว มีลุ่มน้ำสาขาจำนวนมาก น้ำจึงหลากมาแรง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงห่วงใยลุ่มน้ำป่าสักมากที่สุด และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เป็นโครงการที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ให้ความสำคัญ ทรงทำตัวอย่างไว้ให้ดูที่ลุ่มน้ำนี้ ด้วยระบบการจัดการน้ำ อ่างใหญ่เติมอ่างเล็ก อ่างเล็กเติมสระน้ำ หมายถึงการจัดการระบบชลประทานที่ครอบคลุมไปถึงพื้นที่สวน ไร่ นา ของเกษตรกร และต่อเชื่อมกันทั้งระบบ เรียกว่าเศรษฐกิจพอเพียงขั้นก้าวหน้า แต่เกษตรกรเพียงฝ่ายเดียวไม่สามารถดำเนินการได้ รัฐและเอกชน ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน เพื่อให้ระบบการจัดการน้ำในประเทศสมบูรณ์ ซึ่งพื้นที่ชลประทานมีไม่เกิน 20% ของพื้นที่เกษตรกรรม โดยเฉพาะลุ่มป่าสักมีน้อยมากเนื่องจากเป็นที่ลาดชัน ดังนั้นหากตั้งเป้าพัฒนาระบบกสิกรรมจำเป็นต้องมีระบบการจัดการน้ำรูปแบบอื่นๆ ที่เหมาะสม ซึ่งเกษตรทฤษฎีใหม่ที่ประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่คือคำตอบ
นายมนัส กำเนิดมณี รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงการอบรมวิศวกรชลประทานร่วมกับเกษตรกร "พัฒนาระบบกสิกรรมด้วยศาสตร์พระราชา รุ่นที่ 2 ว่า กรมชลประทานกำหนดพื้นที่ตัวอย่างเพื่อน้อมนำศาสตร์พระราชาสู่การปฏิบัติไว้ 2 แห่งในขั้นต้น คือลุ่มน้ำป่าสัก และพื้นที่รอบอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา จ.ปราจีนบุรี หรือห้วยสโมง ทั้งสองพื้นที่จะเริ่มจากการพัฒนาคน คือการจัดกิจกรรมอบรมบ่มเพาะ โดยออกแบบให้วิศวกรของเข้าประกบออกแบบพื้นที่ให้กับเกษตรกรโดยตรง การอบรมครั้งนี้เป็นรุ่นที่ 2 ใช้กระบวนการเดียวกับที่อบรมที่ปราจีนบุรีที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว มีเกษตรกรเริ่มปรับเปลี่ยนรูปแบบพื้นที่ของตนเองสู่เกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์
ทั้งนี้ กระบวนการอบรมในหลักสูตรพัฒนาระบบกสิกรรมด้วยศาสตร์พระราชา เป็นกระบวนการที่ไม่เน้นการฟังบรรยายแต่เน้นการลงมือปฏิบัติจริง เกษตรกรผู้เข้าร่วมนำโฉนดที่ดินมาออกแบบร่วมกันกับวิศวกร และลงมือทำในพื้นที่จริงเพื่อเรียนรู้จากการปฏิบัติ เป็นแนวทางการสร้างกลไกการมีส่วนร่วมและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเจ้าหน้าที่กับตัวเกษตรกรไปพร้อมๆ กัน ผู้เข้ารับการอบรมจะได้เรียนทั้งทฤษฎีและลงมือปฏิบัติไปพร้อมๆ กัน ขณะเดียวกันกรมชลประทานจะดำเนินการในการติดตาม ขับเคลื่อน ขยายผลจัดกิจกรรมช่วยเหลือกัน เพื่อสืบสานศาสตร์พระราชาให้สร้างความร่มเย็นเป็นสุขกับเกษตรกร นอกจากนั้นยังเป็นการสร้างเศรษฐกิจฐานราก พัฒนาการมีส่วนร่วม และพัฒนาคุณภาพชีวิตภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ดีตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไปพร้อมกัน