กรุงเทพฯ--22 มิ.ย.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากกรณีบริษัท พันปี กรุ๊ป (ไทย ลาว กัมพูชา) จำกัด อ้างตัวเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ (United Nations หรือ UN) และได้รับเงินกองทุนสนับสนุนจาก UN เพื่อชี้ชวนให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการพัฒนาการเกษตรแบบมีพันธสัญญา และมีเงินทุนให้กู้ยืมแก่เกษตรกรนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีความกังวลต่อกรณีดังกล่าว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและประชาชนที่เข้าร่วมโครงการฯ โดยอาจได้รับข้อมูลข่าวสารที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง ดังนั้นจึงได้มีหนังสือไปยังผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย (United Nations Resident Coordinator หรือ UNRC) เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 เพื่อขอความร่วมมือตรวจสอบข้อมูลของบริษัทฯ ว่ามีสถานะเป็นสมาชิก UN และได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุน UN ตามที่บริษัทฯ กล่าวอ้างหรือไม่ เมื่อได้ข้อเท็จจริงแล้วกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะทำการชี้แจงให้เกษตรกรและประชาชนได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องต่อไป พร้อมทั้งจะแจ้งผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของบริษัทดังกล่าวให้ทางศูนย์ประสานงานการปฏิบัติที่ 4 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประชาสัมพันธ์และแจ้งเตือนให้ประชาชนได้รับทราบข้อเท็จจริง รวมทั้งเป็นข้อมูลประกอบการตรวจสอบการดำเนินงานของบริษัทฯ ตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
ล่าสุด เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2561 ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทยได้แจ้งผลการตรวจสอบกรณีดังกล่าวแล้ว โดยระบุว่า การดำเนินโครงการพัฒนาด้านการเกษตรผ่านบริษัทเอกชนรายใดรายหนึ่งนั้นไม่เป็นไปตามวิธีปฏิบัติของหน่วยงานใด ๆ ภายใต้องค์การสหประชาชาติ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนเงินทุน การสนับสนุนในรูปแบบโครงการใด ๆ หรือการติดต่อประสานงานโครงการกับองค์การสหประชาชาติในประเทศไทย ซึ่งเป็นไปได้ว่าการดำเนินกิจกรรมภายใต้การแอบอ้างชื่อขององค์การสหประชาชาติและหน่วยงานภายใต้องค์การสหประชาชาติของบริษัทดังกล่าวจะเป็นการหลอกลวง ทั้งนี้ หน่วยงานขององค์การสหประชาชาติในประเทศไทย โดยเฉพาะที่บริษัทดังกล่าวแอบอ้าง คือองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization หรือ FAO) นั้น จะให้การสนับสนุนทางวิชาการมากกว่าการสนับสนุนทางการเงิน โดย FAO จะดำเนินโครงการเพื่อการพัฒนาเหล่านั้น เมื่อได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลของประเทศผู้รับร่วมกับ FAO ซึ่งการดำเนินกิจกรรมในประเทศใด ๆ จะต้องมีการหารืออย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานของรัฐบาลนั้น ๆ ดังนั้นจากรายละเอียดข้างต้น บริษัท พันปีกรุ๊ป (ไทย ลาว กัมพูชา) จำกัด ไม่เคยสมัครเข้าเป็นสมาชิกของ FAO และไม่ได้เป็นบริษัทภายใต้ระบบการจัดซื้อจัดจ้างของ FAO
นายพีรพันธ์ คอทอง รองโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมถึงแนวทางการขับเคลื่อนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการแก้ไขกรณีดังกล่าวว่า ขณะนี้ได้ดำเนินการแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย ศูนย์ประสานงานการปฏิบัติที่ 4 กอ.รมน. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดทราบแล้ว เพื่อใช้เป็นข้อมูลประชาสัมพันธ์และแจ้งเตือนให้ประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งเป็นข้อมูลประกอบการตรวจสอบการดำเนินงานของบริษัทฯ ส่วนกรณีเกษตรกรและประชาชนทั่วไปที่ได้รับความเสียหายจากการดำเนินงานของบริษัทพันปีฯ หรือบริษัทในเครือข่ายสามารถไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ เพื่อดำเนินคดีข้อหาฉ้อโกงหรือคดีฉ้อโกงประชาชนกับบริษัทฯ ต่อไปได้ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายปกครองจะดำเนินการตรวจสอบข้อมูลและการดำเนินงานของเครือข่ายบริษัทฯ เพื่อขยายผล และให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรและประชาชนต่อไป สำหรับในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะแจ้งให้สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดให้ข้อเท็จจริงตามที่ UNRC แจ้งแก่เกษตรกรในทุกพื้นที่ให้ทราบ เพื่อป้องกันและไม่ให้เกิดการโฆษณาชวนเชื่อจากผู้ไม่หวังดีในทุกกรณีอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ หากเกษตรกรมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการทำการเกษตรพันธสัญญา สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดในทุกจังหวัด และสายด่วน 1170