กรุงเทพฯ--22 มิ.ย.--พีอาร์ โฟกัส
ไทยแลนด์ 4.0 ยังคงเดินก้าวไปหน้า โดยระยะนี้ จะมีข่าวความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับ Smart City อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเทคโนโลยีการสื่อสารที่เข้ามามีบทบาทอย่างชัดเจน นั่นก็คือ IoT โดยมีการสื่อสารและสั่งงานระหว่างอุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ ผ่านโครงข่าย LoRaWAN ที่ใช้พลังงานและคลื่นความถี่ต่ำ ทำให้มีความเสถียรสำหรับการใช้งานในระยะยาว
ล่าสุดโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (รร.จปร.) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ร่วมกันในการศึกษาและพัฒนาระบบโครงข่ายสารสนเทศและการสื่อสาร โดยเฉพาะการนำโครงข่าย LoRaWAN (Long Range Wide Area Network) ไปใช้พัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมบนพื้นฐานเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) เพื่อรองรับการศึกษาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยมี พลโท สิทธิพล ชินสำราญ ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ลงนามร่วมกับ พันเอก สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ณ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จังหวัดนครนายก
พันเอก สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ CAT กล่าวว่า "โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ถือเป็นแหล่งผลิตและพัฒนาบุคลากรทางการทหารที่สำคัญของประเทศ ซึ่งจากความร่วมมือในครั้งนี้จะทำให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ใหม่ๆ ทางเทคโนโลยี และยังจะได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างคณาจารย์ของ รร.จปร. และบุคลากรของ CAT ที่มีความรู้ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโรงเรียนฯ จะสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมโดยใช้ระบบสื่อสารโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพจาก CAT ได้อย่างสะดวกและทั่วถึง ส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อการสร้างเสริมภารกิจของ รร.จปร."
พันเอก วิวัต เรืองมี อาจารย์ไฟเบอร์ออปติกและการสื่อสารทางแสง ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า กล่าวว่า " ได้มีโอกาสเข้าร่วมสังเกตการณ์ในโครงการประกวด TOP GUN Rally 2018 ซึ่งจัดโดย TESA ร่วมกับ CAT และองค์กรระดับชั้นนำอีกหลายแห่ง จึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะนำเทคโนโลยี LoRaWAN มาส่งต่อให้กับนักเรียนนายร้อยได้นำมาพัฒนาต่อยอด เพื่อให้เกิดประโยชน์ ซึ่งมีกลุ่มนักเรียนนายร้อยที่ให้ความสนใจและได้นำมาพัฒนาเป็นอุปกรณ์อัจฉริยะเฝ้าตรวจ/เฝ้าระวังในการรักษาความปลอดภัย การที่ CAT ให้การสนับสนุนโครงข่าย LoRaWAN มั่นใจว่าจะช่วยส่งเสริมและเปิดโอกาสให้นักเรียนนายร้อย ได้เรียนรู้และคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น และเชื่อว่าอนาคตข้างหน้า รร.จปร. จะกลายเป็น Smart Academy อีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย
นนร.วรทร กิจวารี หัวหน้ากลุ่มจัดทำโครงงาน กล่าวว่า มีความสนใจด้านเทคโนโลยี LoRaWAN มานานแล้ว เพราะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ IoT ทำงานได้ โดยได้ร่วมกับเพื่อนอีก 2 คน คือ นนร.พนรัตน์ หิติ และ นนร.ณัฐฉัตร เปรมบัญญัติ พัฒนาอุปกรณ์
เฝ้าตรวจ/เฝ้าระวังในการรักษาความปลอดภัย ที่จะช่วยเตือนและส่งสัญญาณให้รู้ เมื่อมีผู้เข้ามาในพื้นที่ของ รร.จปร. ซึ่งในบางจุดไม่สามารถเข้าถึงได้ บางพื้นที่เป็นจุดอับ ไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน และช่วยอุดรอยต่อในช่วงผลัดเปลี่ยนเวรยาม เป็นต้น จึงคิดว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก และในอนาคต ก็จะร่วมกับเพื่อนๆ พยายามคิดค้นอุปกรณ์อัจฉริยะใหม่ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ด้านอื่นๆ ให้เพิ่มขึ้นอีกอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ ความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงานในครั้งนี้ยังจะมีการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดองค์ความรู้ระหว่างบุคลากรของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งถือเป็นการต่อยอดและช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้แก่บุคลากรได้นำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อีกทางหนึ่ง โดย CAT ให้การสนับสนุนระบบสื่อสารโทรคมนาคมและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่เกี่ยวข้อง อาทิ ระบบ LoRaWAN,เครือข่ายอินเทอร์เน็ต, Cloud Computing และบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ my
นับเป็นความเคลื่อนไหวอีกด้านหนึ่ง ระหว่างเทคโนโลยีด้านการสื่อสารที่เข้ามามีบทบาทต่อสถาบันการศึกษาอันเป็นเสาหลักของประเทศ ซึ่งมีเป้าหมายที่จะเสริมประสิทธิภาพในการค้นคิดนวัตกรรมและต่อยอดความรู้ให้กับบุคลากร ไม่ว่าจะเป็นคณาอาจารย์และนักเรียนนายร้อย เพื่อการก้าวไปสู่ Smart Academy ในอนาคตอันใกล้นี้