กรุงเทพฯ--6 ธ.ค.--แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์
แม้เดินทางยิ่งสูง จะยิ่งหนาวนัก หากแต่จิตใจกลับอบอุ่น และอิ่มเอมกับความสุขที่ได้เห็น ได้พบ เมื่อได้เยือนโครงการหลวงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ คาร์ฟูร์ พรีเมียมไฮเปอร์มาร็เก็ต จัดทริป “ตามรอยโครงการพระราชดำริฯ” ณ เชียงราย —เชียงใหม่ ซึ่งนำโดย ปรีชา เชาวโชติช่วง ที่ปรึกษา คาร์ฟูร์ เพื่อแนะนำโครงการร้านคาร์ฟูร์รอยัล ไทย บูติค (Carrefour Royal Thai Boutique) ซึ่งพร้อมจะเปิดให้บริการผลิตภัณฑ์โครงการหลวงทุกวันภายในห้างคาร์ฟูร์ โดยไม่ต้องรอให้มีเทศกาลใดๆ แห่งแรกภายในห้างคาร์ฟูร์ สาขาพระราม 4 ต้นปี 2551 โดยเผยว่า “เพื่อสร้างค่านิยมและความผูกพัน ให้กับแบรนด์ต่างๆ ของผลิตภัณฑ์โครงการหลวง ให้เป็นสินค้าที่นิยมใช้ ถูกใจ และหาเลือกซื้อที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ คาร์ฟูร์ จึงได้ก่อตั้งร้าน คาร์ฟูร์ รอยัล ไทย บูติค เป็นโชว์เคสของผลิตภัณฑ์โครงการหลวง อาทิ ดอยคำ ภูฟ้า ดอยตุง ฯลฯ เป็นจุดขายอย่างถาวร ภายในทำเลที่ดีที่สุดของห้างคาร์ฟูร์ ด้วยความพิเศษ ทั้งทำเลที่ตั้งภายในห้างที่ดีที่สุด ชั้นวางผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างจากทั่วไป รวมทั้งยังจะเป็นสถานที่เลือกซื้อผลิตภัณฑ์เอ็กซ์คลูซีฟ ที่หาเลือกซื้อได้ยาก อาทิ แยมประเภทชูการ์ฟรี ร้านนี้จะเน้นวัตถุประสงค์ด้านการส่งเสริม ตราสินค้าของโครงการหลวงให้เป็นที่รู้จัก เมื่อเป็นที่นิยมใช้ ถูกใจ ปริมาณการเลือกซื้อต่างๆ เพิ่มขึ้น ชาวบ้านก็จะมีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นการตอบสนองโครงการพระราชดำริ ในเรื่องการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวชนบทได้เป็นอย่างดีนั่นเอง”
“ชาวบ้านวันนี้ แม้ไม่ได้ร่ำรวย แต่ดำรงชีวิตอย่างมีความสุข สุขเพราะมีอาชีพ มีงานทำ มีรายได้ ในพื้นที่ของตนเอง เป็นการช่วยเหลือชาวบ้าน ให้ช่วยตนเองได้ โดยเฉพาะชาวเขาบนพื้นที่สูง ที่ให้เลิกจากการปลูกฝิ่น ช่วยชาวเขา ช่วยชาวเรา ช่วยชาวโลก เป็นการหยุดปัญหาของชาวโลกให้โลกน่าอยู่ยิ่งขึ้น ตามกระแส พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ที่เปิดเผย โดย พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ณ สถานีเกษตรอ่างขาง จังหวัดเชียงใหม่ สถานีแห่งแรกของมูลนิธิโครงการหลวง ที่ก่อตั้งขึ้นปี 2512 เพื่อพัฒนาการเพาะปลูกพืชเมืองหนาวทดแทนการปลูกฝิ่นและการทำไร่เลื่อนลอยสำหรับชุมชนชาวเขาเผ่าต่างๆ และยังใช้เป็นศูนย์วิจัยพันธุ์พืชผักผลไม้เมืองหนาวและพันธุ์ไม้ต่างๆ โดยกล่าวว่า “เริ่มงานกับโครงการหลวงมากว่า 13 ปี รู้สึกคุ้นเคย เพราะติดตามคุณพ่อเข้ามาที่นี่ ปัจจุบันนี้ ชาวเขาในพื้นที่ เลิกปลูกฝิ่นเป็นอาชีพกันแล้ว โดยแต่ละคนจะมีผลผลิตที่เหมาะสมตามพื้นที่ของตน ผลผลิตทุกชิ้นของโครงการหลวง มีเรื่องราว ความสำคัญ เพราะแต่ละชิ้น เกิดขึ้นจาก การทุ่มเท แรงกายแรงใจ ความร่วมมือร่วมใจกัน ยกตัวอย่าง กว่าจะได้สตรอเบอรี่ 1 ลูก ต้องผ่านขั้นตอน และกระบวนการมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการคิดค้นพันธุ์ เพาะพันธุ์ว่าเหมาะสมกับสภาพพื้นที่และอากาศหรือไม่ การลงแรงปลูก เพื่อทดแทนการนำเข้า ต้องทำอย่างไร ต้องพัฒนาอย่างไร ให้เพาะปลูก และ หาเลี้ยงชีพตัวเองได้ โครงการหลวงนี้ ให้ความช่วยเหลือ ตั้งแต่ วิจัยพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ถ่ายทอดความรู้และส่งเสริมให้เกษตรกรนำไปเพาะปลูก จนเก็บเกี่ยวผลผลิต และนำส่งโครงการหลวง เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ดอยคำ ทำให้ เกษตรกรในโครงการหลวงมีรายได้สูงถึงปีละ 60,000 บาทต่อครัวเรือน /ต่อปี บางครอบครัวที่ขยันมาก สามารถทำรายได้สูงถึง 200,000 บาทต่อปีก็มี ปีที่ผ่านมาผลิตผลทางเกษตรทำรายได้สูงถึง 100 ล้านบาท คาดว่าปีนี้จะสร้างรายได้กว่า 400 ล้านบาท”
ภายในสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง คณะยังได้ชมสวนดอกไม้กลางแจ้ง อาทิ สวนแปดสิบ ที่จัดตั้งในวาระ ที่ประธานมูลนิธิโครงการหลวง มจ.ภีศเดช รัชนี ทรงมีอายุครบ 80 ชันษา, สวนคำดอย, สวนกุหลาบอังกฤษ, สวนบอนไซ, โดมอนุรักษ์และจัดแสดงพืชภูเขาเขตร้อน, แปลงพืชผักและไม้ดอกที่จัดเตรียมสำหรับ เทศกาลแสดงพันธุ์ไม้ดอกในเดือนกุมภาพันธ์ 2551, สวนผักอินทรีย์ และโรงเรือนวิจัยกุหลาบ ที่นักวิชาการเกษตรโครงการหลวงเผยเคล็ดลับในการยืดอายุกุหลาบ ด้วยการผสมน้ำส้มสายชู 10% และน้ำตาล ลงในน้ำที่จะปักดอกกุหลาบ เพื่อช่วยยืดอายุดอกกุหลาบได้อีก 3-4 วัน ส่วนห้องที่ดีเพื่อยืดอายุดอกกุหลาบ ควรเป็นห้องที่ไม่มีลมโกรกแรง และควรมีสเปรย์เล็กๆ ฉีดน้ำให้ความชื้นกับดอกไม้ กุหลาบชอบอุณหภูมิ 18-20 องศาเซลเซียส หลายๆ คนเข้าใจผิด คิดว่าถ้าอากาศหนาวมากกุหลาบจะชอบ ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะกุหลาบจะเบ่งบานสวยที่สุดในเดือนเมษายน
นอกจากนี้ ยังได้เยี่ยมชมสวนผักอินทรีย์ของเกษตรกรเผ่าปะหล่อง ที่อยู่ภายใต้สัญลักษณ์ออร์แกนิค ไทยแลนด์ ที่มีการปลูก กะหล่ำปลีรูปหัวใจ ผักปวยเล้ง ยอดถั่วลันเตา และผักคะน้า เป็นการทำเกษตร บนที่สูง ซึ่งเป็นแปลงเกษตรอินทรีย์ที่ใหญ่ที่สุดใน 38 ศูนย์พัฒนาของโครงการหลวง, ชมแปลงส่งเสริมพืชผัก โครงการไม้ตัดดอก ไม้กระถาง การเพาะชำดอกเบญจมาศทั้งแบบช่อและแบบเดี่ยว ที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึก อำเภอเชียงดาว โดยสีเหลืองยังเป็นสีที่นิยมที่สุดในจำนวนเบญจมาศ 6 สี และท้ายสุดยังได้ร่วมบริจาคผ้าห่มและอุปกรณ์การเรียน ให้กับชุมชนและเยาวชนในศูนย์การเรียนรู้ชาวไทยภูเขา แม่ฟ้าหลวง บ้านขุนอมแฮดใน อำเภออมก๋อย ที่มูลนิธิคาร์ฟูร์ได้ให้การสนับสนุนตั้งแต่ปี 2544 อีกด้วย
ช่วยกันสร้างบ้านหลังนี้ของเราให้แข็งแรง สมกับที่ “พ่อหลวง” ได้ทุ่มเททุกอย่างมาโดยตลอด เพียงร่วมกันสานต่อโครงการพระราชดำริ ให้พึ่งพาตนเอง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน เป็นภูมิคุ้มกันของบ้าน ที่จะแข็งแรงอย่างยั่งยืนตลอดไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์ โทร 02-434-8300 สุจินดา, แสงนภา, ปนัดดา