“ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำมัน” เตือนนักการเมือง อย่าใช้ราคาพลังงาน เป็นเครื่องมือในการหาเสียง เพราะอาจส่งผลเสียในอนาคต

ข่าวทั่วไป Thursday December 6, 2007 12:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ธ.ค.--บางจาก ปิโตรเลียม
“ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำมัน” เตือนนักการเมือง อย่าใช้ราคาพลังงาน เป็นเครื่องมือในการหาเสียง เพราะอาจส่งผลเสียในอนาคต พร้อมหนุนภาครัฐปรับราคา “ก๊าซแอลพีจี” เพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง
นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำมัน และอดีตผู้บริหารจากบริษัท บางจาก ปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้หลายพรรคการเมือง ได้โยงเรื่องราคาพลังงานเข้ามาเพื่อหาเสียงกับประชาชน โดยเฉพาะการนำแนวคิดลดราคาก๊าซหุงต้ม และราคาน้ำมันไปหาเสียงนั้น โดยอยากฝากให้นักการเมืองที่จะหาเสียงลักษณะดังกล่าว ว่า จะทำให้เกิดผลเสียในระยะยาว โดยเฉพาะเรื่องงดเว้นการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน เพราะจะเป็นการสร้างความเคยชินให้กับประชาชนในเรื่องของการใช้ก๊าซหุงต้มที่มีราคาถูก ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้น จะทำให้ประชาชนใช้พลังงานกันอย่างฟุ่มเฟือย จนเป็นเหตุให้ประเทศต้องนำเข้าพลังงานมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยต้องนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 7 แสนล้านบาท และคาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งหากยังมีการทำให้โครงสร้างราคาพลังงานบิดเบือนต่อไป จะมีมูลค่าสูงนับล้านล้านบาท เมื่อถึงเวลานั้น ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับการขาดดุลทางการค้าอย่างมหาศาล จึงขอฝากนักการเมืองว่าควรคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศในระยะยาว ดีกว่าหวังผลในระยะสั้นซึ่งกำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ภาครัฐ ตัดสินใจลดการอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้มนั้น เห็นว่าเป็นนโยบายที่เหมาะสมแล้ว เพราะในอดีตเมื่อมีการอุดหนุนจากภาครัฐ เป็นเวลานาน ก็เป็นต้นเหตุที่ทำให้โครงสร้างของก๊าซหุงต้มถูกบิดเบือน และเกิดการนำก๊าซหุงต้มไปใช้ผิดประเภท โดยเมื่อปี 2549 มียอดผู้ใช้รถยนต์ซึ่งหันไปใช้ก๊าซหุงต้มเป็นเชื้อเพลิงสูงขึ้นถึง 51 % ในขณะที่ปี 2550 นี้ มียอดใช้เพิ่มขึ้นมากกว่า 20% โดยเชื่อว่าภายใน 2 ปี หากยังมีการใช้ ก๊าซฯ ในปริมาณเพิ่มขึ้นดังกล่าว ก๊าซหุงต้มที่ผลิตได้ในเมืองไทยจะไม่พอใช้ และอาจต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
“วันนี้อย่าลืมว่าประเทศไทยนำเข้าก๊าซฯ จากประเทศพม่า 30 เปอร์เซ็นต์ จากการใช้ทั้งหมดภายในประเทศ ซึ่งต่อไปในอนาคต เราอาจจะต้องนำเข้าก๊าซฯ จากประเทศมาเลเซีย ดังนั้นถ้าเรายังตรึงราคาก๊าซหุงต้มให้อยู่ กองทุนน้ำมันฯ ก็อาจจะติดลบ 8-9 แสนล้านบาท เพราะต้องเอาเงินไปชดเชยเหมือนรัฐบาลในอดีตที่ผ่านมา” นายมนูญกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ