กรุงเทพฯ--25 มิ.ย.--สำนักวิจัยซูเปอร์โพล
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการ สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) มูลนิธิ สถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ เปิดเผยผลสำรวจ เรื่อง โพล ความรู้เรื่องรัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตย และ การลงโทษประหารชีวิต กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพ จำนวน 1,123 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 19 – 22 มิถุนายน พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา
เมื่อถามถึงความรู้เกี่ยวกับ รัฐธรรมนูญ พบว่า ครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 50.6 ตอบไม่ทราบว่ารัฐธรรมนูญคืออะไร ในขณะที่ เพียงร้อยละ 10.5 ตอบว่าทราบและตอบว่า เป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ แต่ร้อยละ 38.9 ตอบว่าทราบ แต่ระบุว่า รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของประชาธิปไตย เป็นเรื่องต้องปฏิบัติ เป็นระเบียบต่างๆ เป็นต้น
ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.3 ไม่เคยเปิดอ่านรัฐธรรมนูญเลย ในขณะที่ร้อยละ 31.7 เคยเปิดอ่าน ยิ่งไปกว่านั้น ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 87.1 ระบุว่า ใช้ข้อมูลที่ฟังเขาเล่ามา พูดมาอีกที เขาบอกกันมาว่า รัฐธรรมนูญฉบับไหนดีกว่ากัน ในขณะที่เพียงร้อยละ 12.9 ระบุว่า อ่านด้วยตนเอง เปรียบเทียบด้วยตนเอง
ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามว่า รัฐธรรมนูญที่ดีควรมีบทบัญญัติอะไรบ้าง พบว่า อันดับแรก ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 66.3 ระบุ ปกป้อง เทิดทูน สถาบันหลักของชาติ รองลงมาคือ ร้อยละ 65.7 ระบุว่า ปกป้อง รักษาสิทธิชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ร้อยละ 57.2 ระบุว่า ขจัดอิทธิพลทางการเมือง ที่เอื้อผลประโยชน์เฉพาะครอบครัว ญาติพี่น้องและพวกพ้อง ร้อยละ 56.9 ระบุว่า รัฐธรรมนูญที่ดีต้องรักษาสิทธิและผลประโยชน์ชุมชน ร้อยละ 53.9 ระบุว่า รักษาผลประโยชน์ชาติ บ้านเมืองสงบสุข ร้อยละ 50.0 ระบุว่า ขจัดปัญหาทุจริต คอรัปชั่น ร้อยละ 42.8 ระบุว่า มีวิธีคัดค้านอำนาจรัฐบาล และอำนาจอื่น ไม่ให้ใครมีมากเกินไป และร้อยละ 40.1 ระบุว่า นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส. แต่ได้รับความนิยมจากประชาชน
เมื่อถามถึง การประเมินความรู้ตัวเอง เรื่องประชาธิปไตย พบว่า ร้อยละ 40.0 คิดว่ารู้และคิดว่าตอบได้ถูกต้องว่าประชาธิปไตยคืออะไร ในขณะที่ร้อยละ 35.7 คิดว่ารู้แต่ไม่แน่ใจ และร้อยละ 24.3 ไม่รู้ อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.5 ระบุว่า ทุกวันนี้มีอิสระ เสรีภาพ เพียงพอแล้วต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ในขณะที่ร้อยละ 25.5 ระบุยังไม่เพียงพอ
ที่น่าพิจารณาคือ ความเห็นต่อการลงโทษประหารชีวิต คนที่ฆ่าผู้อื่นด้วยความโหดร้ายทารุณ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.4 ระบุ เห็นด้วยให้มีโทษประหารชีวิต ในขณะที่ เพียงร้อยละ 6.6 ไม่เห็นด้วย และเมื่อจำแนกคนตอบออกตามช่วงอายุ พบว่า คนทุกกลุ่มช่วงอายุส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการลงโทษประหารชีวิต โดยคนตอบยิ่งมีช่วงอายุสูงขึ้น ยิ่งเห็นด้วยกับการลงโทษประหารชีวิต คือ ร้อยละ 87.5 ของคนที่อายุไม่เกิน 24 ปี คนร้อยละ 93.6 ของคนอายุ 25 – 59 ปี และร้อยละ 96.6 ของคนอายุ 60 ปีขึ้นไปเห็นด้วยต่อการลงโทษประหารชีวิตคนที่ฆ่าผู้อื่นด้วยความโหดร้ายทารุณ นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 90.2 สนับสนุนอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กรณีบังคับโทษประหาร ในขณะที่ เพียงร้อยละ 9.8 ไม่สนับสนุน