กรุงเทพฯ--25 มิ.ย.--สำนักวิจัยซูเปอร์โพล
สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล มูลนิธิ สถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ เปิดเผยผลสำรวจ เรื่อง โพล ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กรณีศึกษา ประชาชนในจังหวัด ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และ ระยอง
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการ สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) มูลนิธิ สถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ เปิดเผยผลสำรวจ เรื่อง โพล ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพในจังหวัด ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และ ระยอง จำนวน 1,249 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 10 – 23 มิถุนายน พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา พบว่า
ประชาชนในจังหวัด ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 97.8 ติดตามข่าวสารผ่านสื่อมวลชน อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่หรือร้อยละ 63.1 เคยได้ยินแต่ไม่รู้จักว่า ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC คืออะไร และเมื่อถามว่า เคยพบเห็นหน่วยงานรัฐหรือเอกชนลงพื้นที่ ให้ชาวบ้านได้ข้อมูล เห็นประโยชน์ที่ประชาชนในพื้นที่ได้รับจาก ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือไม่ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.3 ไม่เคยพบเห็นเลย มีเพียงร้อยละ 9.3 เท่านั้นที่เคยเห็นและให้ข้อมูลชัดเจน และร้อยละ 17.4 ระบุเคยเห็นแต่ให้ข้อมูลไม่ชัดเจน
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อถามว่า เคยพบเห็นหน่วยงานรัฐหรือเอกชนลงพื้นที่ เตรียมความพร้อม ประชาชนในพื้นที่ให้ได้รับประโยชน์จากระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือไม่ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.6 ไม่เคยพบเห็น มีเพียงร้อยละ 5.7 ที่เคยเห็นและได้เตรียมความพร้อมให้คนในพื้นที่แล้ว และร้อยละ 11.7 เคยเห็นแต่ยังไม่ชัดเจน
นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 71.5 กังวลเกี่ยวกับ สิ่งแวดล้อมเป็นพิษจากการลงทุน EEC และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.6 กังวลเกี่ยวกับ ขยะพิษ จากการลงทุน EEC ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 66.9 กังวลเกี่ยวกับ การจ้างงานคนนอกพื้นที่มากกว่าคนในพื้นที่จากการลงทุน EEC นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.9 กังวลเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ จากการลงทุน EEC และเมื่อถามถึง ความกังวลเกี่ยวกับ ปัญหาความไม่ปลอดภัยจากการลงทุน EEC พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 71.7 กังวล ในขณะที่ร้อยละ 28.3 ไม่กังวล
อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 95.6 ระบุว่าจำเป็นต้องมีหน่วยงานรัฐและเอกชน ลงพื้นที่เตรียมความพร้อมประชาชนในพื้นที่ให้ได้ประโยชน์เต็มที่จากการลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และมีเพียงร้อยละ 4.4 ระบุไม่จำเป็น