กรุงเทพฯ--25 มิ.ย.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ "ขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ" ณ โรงแรมปริ้นซ์ พาเลซ กรุงเทพฯ โดยมีนายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้เกียรติร่วมในพิธี พร้อมทั้งมอบนโยบายให้กับผู้เข้าร่วมประชุม เพื่อให้ผู้บริหารระดับสูง เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และผู้แทนภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้รับทราบนโยบายการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ร่วมกำหนดกรอบแนวทางบูรณาการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ รวมทั้งจัดทำแผนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของจังหวัดระดับพื้นที่ และประสานเชื่อมโยงทุกหน่วยงานที่ร่วมดำเนินการ
นายวิวัฒน์ กล่าวว่า นโยบายรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดให้การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของประเทศเป็นงานสำคัญที่จะต้องดำเนินการอย่างเร่งรัดและต่อเนื่อง เพราะเกษตรอินทรีย์เป็นทางเลือกที่มีศักยภาพในการพัฒนาเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน มีความมั่นคงด้านอาหารและความปลอดภัยต่อสุขภาพ ไม่ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับกระแสความต้องการผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ให้บรรลุเป้าหมายอาจสำเร็จได้ยากหากขาดการเชื่อมโยงกับภาคีเครือข่ายทั้งในส่วนกลางและระดับพื้นที่ ซึ่งการขับเคลื่อนในพื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพนั้นต้องดำเนินการในระดับจังหวัด ผ่านการสั่งการโดยผู้ว่าราชการจังหวัดในการประสานเชื่อมโยงบูรณาการทุกภาคส่วนในระดับพื้นที่ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560-2564 และสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่กำหนดเป้าหมายเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน 5 ล้านไร่ โดยให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนระบบการผลิตจากเดิม ไปสู่ระบบการผลิตตามแนวทางของเกษตรกรรมยั่งยืน เช่น เกษตรธรรมชาติ เกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสาน วนเกษตร เกษตรทฤษฎีใหม่ หรืออื่นๆ เช่น พุทธเกษตร
ดังนั้น เพื่อให้การขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ในระดับพื้นที่บรรลุผลสำเร็จ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความเห็นร่วมกันในการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ของแต่ละจังหวัด ขยายผลครอบคลุมทั้ง 13 กลุ่มจังหวัด 56 จังหวัด ภายใต้การกำกับติดตามการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์จังหวัด (อพก.) โดยปรับเปลี่ยนการดำเนินงานจากยึดหน่วยงานเป็นหลัก มาเป็นการยึดพื้นที่เป็นหลัก และให้ทุกหน่วยงานทุกภาคส่วนร่วมมือกันดำเนินการ โดยมีจังหวัดเป็นเจ้าภาพหลักในการประสานการดำเนินงาน หน่วยงานเจ้าภาพในแต่ละพื้นที่ (โรงพยาบาล โรงเรียน โรงแรม และเอกชน) ร่วมกันชี้เป้าหมายในการรับซื้อผลผลิตเกษตรอินทรีย์ และมีส่วนร่วมในการสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรผู้ทำการผลิตเกษตรอินทรีย์