กรุงเทพฯ--25 มิ.ย.--โฟร์ พี แอดส์(96)
เด็กๆที่อยู่ในช่วงวัยเรียน ความต้องการพลังงานและสารอาหารจะมากขึ้น เพื่อการเจริญเติบโตที่มีคุณภาพพวกเขาจึงควรได้รับคุณค่าทางโภชนาการอย่างครบถ้วน โภชนาการที่ดีย่อมส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตเด็ก ช่วยเสริมพัฒนาการทั้งทางร่างกาย จิตใจและการเติบโตที่สมวัย โดยเฉพาะคุณค่าทางโภชนาการในโครงการอาหารกลางวันเด็กนักเรียนหัวละ 20 บาทที่มีประโยชน์มากกว่าแค่ของฟรี ซึ่งพบว่ามีหลายโรงเรียนที่สามารถจัดบริการอาหารกลางวันได้อย่างมีคุณภาพอย่างที่ควรจะเป็น ดังเช่น "โรงเรียนชุมชนวัดขันเงิน" อ.หลังสวน จ.ชุมพร ที่เน้นคุณค่าทางโภชนาการ มีเมนูอาหารให้เลือกหลากหลาย เด็กนักเรียนพึงพอใจ กินไม่อิ่มเติมได้ แม่ค้ายืนยันงบอาหารกลางวันหัวละ 20บาทยังเหลือกำไรเดือนละกว่า 2 หมื่นบาท ในขณะที่โรงเรียนมีเงินคืนเทศบาลปีละเกือบ 2 ล้าน นับว่าเป็นกรณีศึกษาได้เป็นอย่างดี เกี่ยวกับงบอาหารกลางวันของนักเรียน
ดร.สุชาติ มีสมบัติ ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนวัดขันเงิน อ.หลังสวน จ.ชุมพรเปิดเผยว่าทางโรงเรียนบริหารจัดการอาหารกลางวันโดยยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลาง ยึดความสุขและความต้องการของนักเรียนเป็นหลัก จากที่นักเรียนได้เรียกร้องว่าอยากให้มีอาหารที่หลากหลาย โรงเรียนจึงได้เปลี่ยนจากที่ปรุงเอง มาเป็นการเปิดให้แม่ค้าเข้าร่วมเสนอเมนูเพื่อคัดเลือก มีการแข่งขันกันทั้งข้อเขียนและปฏิบัติ ตัดสินโดยใช้เกณฑ์ สะอาด รสชาติอร่อย กึ่งๆ อาหารจานเดียว เมนูชูสุขภาพ ใช้กระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมในการคัดสรร โดยการเชิญเครือข่ายผู้ปกครองนักเรียน ชุมชน คณะกรรมการสถานศึกษา เจ้าหน้าที่จากสาธารณสุขและกองสาธารณสุขอำเภอหลังสวนมาร่วมในการตัดสินคัดเลือกจาก 10 ร้าน จนได้ 5 ร้าน ทำให้นักเรียนได้กินอาหารที่มีคุณภาพ ด้วยเมนูอาหารที่มีให้เลือกอย่างหลากหลาย ภายใต้แนวคิดหากกินไม่อิ่มเติมได้ สามารถใช้สิทธ์คูปองอาหารกลางวันมูลค่า 20 บาท ในการเลือกกินอาหารจากร้านที่ชื่นชอบ และยังสามารถเลือกกินผักและผลไม้ที่แม่ค้าเตรียมไว้ให้กินฟรี
ในขณะที่แต่ละเทอมทางโรงเรียนจะมีการประเมินผลเกี่ยวกับคุณภาพของอาหาร รวมถึงสอบถามความพึงพอใจจากเด็กและผู้ปกครองว่าเป็นอย่างไร หากพบว่าร้านไหนไม่ผ่านมาตรฐาน ร้านค้ารายนั้นต้องปรับปรุงแก้ไข แต่หากยังเป็นเช่นเดิมก็จะหาร้านใหม่มาทดแทน โดยทางโรงเรียนมีคณะกรรมการอยู่ 2 ชุด ชุดดำเนินการอาหารกลางวันและชุดตรวจสอบคุณภาพอาหารเบื้องต้น มีนักเรียนซึ่งมาจากสภานักเรียนเข้ามาเป็นกรรมการ ทุกภาคเรียนจะมีสำนักงานกองสาธารณสุขเทศบาลเมืองหลังสวนและสาธารณสุขอำเภอเมืองหลังสวนมาตรวจสอบความสะอาดของภาชนะที่ใช้ในการใส่อาหาร วิธีการปรุงอาหาร คุณค่าทางโภชนาการ การแต่งกายของแม่ค้าฯลฯ
ความสำเร็จในการบริหารจัดการอาหารกลางวันของโรงเรียนจากการดำเนินอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 พบว่าเด็กมีค่าเฉลี่ยทางด้านไอคิว และด้านสุขภาพร่างกายเป็นไปในทางที่ดีขึ้น มีภาวะโภชนาการดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยพบว่าสถานการณ์โภชนาการปี 61 นักเรียนมีอัตราสูงดีสมส่วนร้อยละ 67 ดีกว่าค่าเฉลี่ยระดับเขตและประเทศที่ร้อยละ 63 และยังพบอีกว่าเด็กนักเรียน ป. 6 สูงดีสมส่วนถึงร้อยละ 77 ซึ่งแสดงว่าเด็กนักเรียนได้รับอาหารที่มีประโยชน์เพียงพอทำให้ภาวะโภชนาการนักเรียนดีขึ้นอย่างชัดเจน
นอกจากนี้จากการสอบถามพบว่าเด็กนักเรียนมีความพึงพอใจ กินอิ่ม และสามารถเลือกกินเมนูอาหารที่ชอบได้ ส่วนแม่ค้าให้ข้อมูลว่างบอาหารกลางวันมื้อละ 20บาทเพียงพอและยังเหลือกำไรกว่า 2 หมื่นบาทต่อเดือน ในขณะที่โรงเรียนมีเงินคืนเทศบาลปีละเกือบ 2 ล้านบาท./ดร.สุชาติกล่าว
ด้านนายยอดชาย จิ้วบุญสร้างผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมเทศบาลเมืองหลังสวนกล่าวว่าจากที่ได้ร่วมเป็นคณะกรรมการคัดเลือกร้านค้าที่มาจำหน่ายอาหารให้แก่นักเรียนผ่านระบบคูปอง สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดหลังจากทำมา 3 ปีคือทำให้นักเรียนมีความสุขที่มีโอกาสได้เลือกรับประทานอาหารที่อยากทาน และเกิดความร่วมมือของภาคีเครือข่าย ในส่วนของกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมเทศบาลเมืองหลังสวนได้เข้ามาส่งเสริมในเรื่องของคุณภาพอาหารและสุขาภิบาลอาหารของร้านค้า เข้ามาประเมินเทอมละ 2 ครั้ง เป็นการสุ่มตรวจโดยไม่แจ้งล่วงหน้า ซึ่งปัจจุบันพบว่าทุกร้านค้าผ่านเกณฑ์การประเมินและมีมาตรฐานที่สูงขึ้น กองสาธารณสุขเทศบาลเมืองหลังสวนและสาธารณสุขอำเภอเมืองหลังสวน กล้าการันตีว่า "โรงเรียนชุมชนวัดขันเงิน" เป็นต้นแบบของอาหารกลางวันโรงเรียนระดับประถมได้เลย ซึ่งทางท้องถิ่นยินดีที่จะให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องต่อไป
นางพิมพ์พร จันทร์เกิดแม่ค้าข้าวแกงร้านยายปุกโรงเรียนชุมชนวัดขันเงินเล่าว่าการเข้ามาขายอาหารในโรงเรียนได้จากการสอบคัดเลือก โดยมีกองสาธารณสุขและสาธารณสุขอำเภอเมืองหลังสวน โรงพยาบาล และอาจารย์ มาเป็นคณะกรรมการคัดเลือก ซึ่งมีการสอบทั้งภาคปฏิบัติและข้อเขียน และต้องได้รับการอบรมในเรื่องสุขาภิบาลอาหารและเรื่องโภชนาการอาหารด้วย โดยร้านของตนขายข้าวราดแกง แต่ละวันจะทำอาหารประมาณ 12 เมนู ภายในหนึ่งอาทิตย์เมนูอาหารจะสลับสับเปลี่ยนเวียนกันไป อาหารที่ปรุงขายจะเน้นที่เป็นประโยชน์แก่เด็ก จะเน้นผัก เน้นปลา เน้นไข่ แต่ที่ต้องมีทุกวันคือผัก เพื่อให้เด็กได้รับคุณค่าทางอาหาร โดยจะติดเมนูอาหารไว้ที่หน้าร้านทุกวันเพื่อให้เด็กได้ทราบและสามารถเลือกเมนูที่ชอบทาน เรื่องงบอาหารกลางวันที่ต้องขายเพียง 20 บาทก็เพียงพอและเหลือกำไรโดยการเฉลี่ยเอากำไรค่าอาหารของเด็กเล็กเฉลี่ยให้เด็กโต เพราะเด็กเล็กจะกินน้อยส่วนเด็กโตจะกินเยอะ และยังมีเครื่องครัว เช่นผักที่ปลูกเองนำมาปรุงอาหารช่วยลดต้นทุนได้ เหลือกำไร 800 บาทต่อวัน เดือนหนึ่งก็ราวๆ 2 หมื่นบาท
ดญ.นิชาภา พุ่มขจร อายุ12ปีนักเรียนชั้นป.6/5โรงเรียนชุมชนวัดขันเงินเล่าว่าพอทางโรงเรียนจัดอาหารแบบระบบคูปอง ทำให้ตอนนี้มีอาหารให้เลือกหลากหลายมากขึ้น เช่น ก๋วยเตี๋ยว ลาดหน้า และอาหารหลายๆอย่าง ส่วนเมนูที่ชอบมากที่สุดคือก๋วยเตี๋ยวเพราะเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เกือบครบ 5 หมู่ ได้ทั้งคาร์โบไฮเดรตจากเส้นก๋วยเตี๋ยว ซึ่งจัดอยู่ในประเภท ข้าว ให้พลังงานกับร่างกาย และโปรตีนที่ได้จากลูกชิ้น หมูสับ ที่นำไปสร้างความเจริญเติบโตและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอให้ร่างกาย ได้วิตามิน แร่ธาตุที่อยู่ในผัก หรือ ถั่วงอก คะน้า ผักบุ้ง ช่วยทำให้ร่างกายทำงานได้ตามปกติและสร้างภูมิคุ้มกันโรค อีกทั้งได้ไขมันจากกระเทียมเจียว เป็นต้น การมีอาหารที่หลากหลายให้เลือก ได้กินอาหารที่ชอบและมีคุณภาพช่วยทำให้กินได้เยอะมากขึ้น รู้สึกว่าตัวเองแข็งแรงและโตไวขึ้น เทียบจากที่เรียนอยู่ ชั้นป.4 สูงเพียง 140 ซม. น้ำหนัก 47 กก. เรียนได้เกรด 3.34 ปัจจุบันเรียนอยู่ชั้นป.6 สูงขึ้นเป็น 160 ซม.น้ำหนัก 51 กก.เรียนได้เกรด 4.0