กรุงเทพฯ--25 มิ.ย.--เอเอสวี อินเตอร์กรุ๊ป
นายสไกร พิมพ์บึง รองเลขาธิการ รักษาการเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.)เปิดเผยว่า ตามที่ นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ ได้มีนโยบายให้ กฟก. ร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ จัดเวทีประชุมชี้แจงสหกรณ์ทั่วประเทศ โดยมีนายณรงค์ อ่อนสอาด ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหัวหน้าทีมเปิดเวทีเจรจา นั้น จากการตรวจสอบข้อมูลหนี้สินเกษตรกร พบว่ามีเกษตรกรสมาชิก กฟก. เป็นหนี้สถาบันเกษตรกร (สหกรณ์) จำนวน 127,180 ราย มูลหนี้ 8,180 ล้านบาทโดยมีหนี้ที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การจัดการหนี้ของ กฟก. คือ มีสถานะหนี้เป็นหนี้เร่งด่วนถูกฟ้องร้องดำเนินคดี มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน มูลหนี้ไม่เกิน 2.5 ล้านบาท จำนวน 402 ราย รวมมูลหนี้ 138 ล้านบาท และหนี้ผิดนัดชำระ 3 ปีขึ้นไป จำนวน 2,957 ราย มูลหนี้ 895 ล้านบาท
"โดยการจัดเวทีเจรจาแก้ไขหนี้สหกรณ์ครั้งนี้มีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตัวแทนสถาบันเจ้าหนี้ (สหกรณ์) กรมส่งเสริมสหกรณ์ และสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรซึ่งที่ผ่านมากรมส่งเสริมสหกรณ์ได้เป็นตัวกลางในการเจรจาหนี้ และมีสหกรณ์ประสงค์ให้ กฟก.จัดการหนี้ จำนวน 148 สหกรณ์ ภายใต้เงื่อนไขชำระเงินต้น 100% พร้อมอัตราดอกเบี้ย 7.5% เป็นเวลา 5 ปี มีสมาชิกที่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะได้รับการช่วยเหลือ 739 ราย มูลหนี้รวม 256 ล้านบาท เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรเป็นไปอย่างต่อเนื่อง รวดเร็ว ได้จัดเวทีเจรจาร่วมแก้ไขปัญหาหนี้กรณีสถาบันสหกรณ์ 4 ภาค 5 เวที โดยได้เริ่มตั้งแต่วันที่ 19 – 27 มิถุนายน 2561 โดยมีสหกรณ์จังหวัดเป็นเจ้าภาพในการจัดเวทีเจรจา แบ่งเป็น 5 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดร้อยเอ็ด อุดรธานี สุราษฎร์ธานี กรุงเทพมหานคร และลำปาง รวม 1,408 สหกรณ์
สำหรับเนื้อหาการชี้แจงในส่วนของ กฟก. จะเน้นด้านการดำเนินงาน ระเบียบ หลักเกณฑ์ในการจัดการหนี้ แนวทางการจัดการหนี้ให้สหกรณ์เจ้าหนี้เกิดความเข้าใจ แจ้งข้อมูลของเกษตรกรสมาชิก กฟก.ที่เข้าหลักเกณฑ์การช่วยเหลือของ กฟก. และกรณีที่ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์การช่วยเหลือให้สหกรณ์รับทราบ พร้อมทั้งจะมีการจัดเวทีขนาดเล็กเพื่อเจรจาหนี้ ที่ถูกฟ้องร้องบังคับคดี ขายทอดตลาด มีการระดมความคิดเห็นร่วมกับสถาบันเจ้าหนี้ รับฟังปัญหาและร่วมกันสะท้อนปัญหาต่างๆ เพื่อหาแนวทางร่วมกันในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรทั้งระบบตามนโยบายของภาครัฐและสามารถรักษาที่ดินทำกินไว้ให้เกษตรกรได้ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรต่อไป