กรุงเทพฯ--25 มิ.ย.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น
ในประเทศไทย มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับที่ 2 รองมาจากมะเร็งเต้านม โดยในแต่ละปี มีจำนวนผู้ป่วยเกิดขึ้นใหม่ประมาณ 10,000 คน และมีผู้ป่วยที่ต้องเสียชีวิตประมาณ 5,200 คน ถ้าคิดเป็นวันแล้วจะตรวจพบมะเร็งปากมดลูกในสตรีไทยวันละประมาณ 27 คน และมีอัตราผู้เสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกสูงเฉลี่ยวันละ 14 คน หนึ่งในวิธีป้องกันและลดความเสี่ยง คือการตรวจคัดกรองเป็นระยะสม่ำเสมอ
ทำอย่างไรจะสร้างนวัตกรรมในระบบคัดกรองสนองตอบวิถีสุขภาพ 4.0 สองหนุ่มเมคเกอร์พันธุ์แกร่ง จากสาขาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดย นายสุวิชา ศศิวิมลกุล , นายธนกฤษ จิตติชัยเวทย์ และมีดร.วิบูลย์ ปิยวัฒนเมธา เป็นที่ปรึกษาโครงการ ได้ร่วมกันคิดค้นวิจัยโดยนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligent) หรือ AI ที่กำลังมีบทบาทสูงมาสร้างนวัตกรรมทางชีวการแพทย์ชิ้นใหม่ เรียกว่า "ระบบคัดกรองเซลล์มะเร็งปากมดลูกด้วย AI ปัญญาประดิษฐ์" (Cervical Cancer Cell Classification Using Artificial Intelligent) ที่เป็นประโยชน์ยิ่งต่อสุขภาพและวงการแพทย์
สุวิชา ศศิวิมลกุล หรือ ฟลุ๊ค วัย 22 ปี กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์ชิ้นนี้ว่า "ประเทศไทยต้องใช้งบประมาณมหาศาลสั่งซื้อนำเข้าเครื่องมือแพทย์ซึ่งมีราคาแพงมาก ปัจจุบันวิธีการตรวจมะเร็งปากมดลูกมี 3 วิธี คือ วิธีการตรวจแบบแป๊ปสเมียร์สามัญ และ วิธีแบบแป๊ปสเมียร์ของเหลวเก็บเซลล์ ส่วนแบบที่ 3 คือวิธีตรวจหาเชื้อก่อโรค HPV ซึ่งมีราคาสูงมาก ทั้งนี้ 2 วิธีแรกนี้มีต้องรอผลนานอย่าง 3 – 5 วัน และกระบวนการตรวจมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทยใช้ระยะเวลานาน ผู้ได้รับการตรวจมะเร็งปากมดลูกจะต้องรออย่างน้อยถึง 1 สัปดาห์ เนื่องจากพยาธิแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญและขาดกล้องไมโครสโคปในการวิเคราะห์และอ่านผลตรวจเซลล์มะเร็งปากมดลูก วงการแพทย์ในไทยยังขาดบุคคลากรไม่เพียงพอต่อจำนวนประชาชนที่เข้ารับการตรวจมะเร็งปากมดลูก ทีมวิจัยของเราจึงนำองค์ความรู้ AI ผสานประสบการณ์ด้านชีววิทยา วงจรอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือแพทย์ กับด้านซอฟท์แวร์และการประมวลผลภาพทางการแพทย์มาประยุกต์ใช้ เพื่อพลิกโฉมให้กระบวนการตรวจมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทยรวดเร็วในไม่กี่วินาที ยกระดับวงการแพทย์ในประเทศไทยเพื่อคนไทย และลดภาระของบุคคลากรลง"
ในการวิจัยพัฒนา ใช้ระยะเวลากว่า 5 เดือน สร้างนวัตกรรมระบบ AI คัดกรองเซลล์มะเร็งปากมดลูก ซึ่งมีส่วนประกอบ 2 ส่วนหลัก คือ ฮาร์ดแวร์ ที่เรียกว่า เครื่องสแกนแผ่นสไลด์ ( Slide Scanner) ซึ่งออกแบบให้เป็นอุปกรณ์สำหรับถ่ายภาพแผ่นสไลด์ที่ได้จากวิธีการตรวจมะเร็งปากมดลูกแบบเป๊ปสเมียร์ (Pap smear) โดยมีกล้องถ่ายรูปแบบดิจิทัลและเลนส์กล้องระยะใกล้เป็นชิ้นส่วนหลัก พร้อมทั้งสร้างระบบซอฟท์แวร์ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เพื่อทำหน้าที่วิเคราะห์เซลล์ที่อยู่ในแผ่นสไลด์แทนนักพยาธิแพทย์ หลักการทำงานของนวัตกรรมทั้ง 2 ส่วนให้เชื่อมต่อกัน คือ เมื่อเครื่องสแกนแผ่นสไลด์ถ่ายภาพแผ่นสไลด์เรียบร้อยแล้ว ก็จะส่งรูปภาพที่ได้มายังระบบซอฟท์แวร์ เพื่อประมวลผลภาพ และวิเคราะห์เซลล์ที่ได้ว่ามีโอกาสเติบโตไปเป็นเซลล์มะเร็งหรือไม่ ไม่เพียงเท่านี้สองเมคเกอร์ยังพัฒนาให้ AI ทำงานบนระบบคลาวด์ รวมทั้งผลการตรวจมะเร็งปากมดลูกแต่ละครั้งสามารถจัดเก็บไว้ในคลาวด์ (Cloud) เพื่อให้สะดวกต่อการค้นหา และผู้ใช้สามารถทำงานจากที่ใดก็ได้ เพียงแค่มีอินเตอร์เน็ต
จากโจทย์หลักของการสร้าง ระบบ AI คัดกรองเซลล์มะเร็งปากมดลูก เพื่อให้การตรวจวิเคราะห์เซลล์มะเร็งปากมดลูกเป็นไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นวิธีการใช้งานจึงถูกออกแบบให้สะดวกสบาย โดยผู้ใช้งานเพียงนำแผ่นสไลด์ที่ต้องการวิเคราะห์วางลงบนเครื่องสแกนแผ่นสไลด์และควบคุมการทำงานของอุปกรณ์โดยใช้ซอฟแวร์บนคอมพิวเตอร์ และเมื่อสั่งให้เครื่องสแกนแผ่นสไลด์ทำงาน ตัวอุปกรณ์จะทำการถ่ายภาพแผ่นสไลด์และเก็บรูปภาพบนคอมพิวเตอร์โดยอัตโนมัติ จากนั้นผู้ใช้งานเลือกไฟล์ภาพที่ต้องการและส่งไปประมวลผลบนคลาวด์ เพียงไม่กี่วินาทีก็จะได้ผลลัพธ์จากการประมวลผลด้วยเทคโนโลยี
ธนกฤษ จิตติชัยเวทย์ หรือ เกม วัย 22 ปี กล่าวว่า "นวัตกรรมระบบ AI คัดกรองเซลล์มะเร็งปากมดลูกด้วยปัญญาประดิษฐ์นี้มีราคาถูกกว่านำเข้าถึง 50 เท่า ช่วยประหยัดลดการนำเข้าเครื่องมือราคาสูงจากต่างประเทศ พร้อมทั้งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ง่ายสะดวกสบาย ลดความเหลื่อมล้ำในบริการทางการแพทย์แก่โรงพยาบาลและประชาชนในต่างจังหวัดและพื้นที่ห่างไกล เกิดประโยชน์ต่อแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนที่ทำการตรวจมะเร็งปากมดลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงพยาบาลขนาดเล็กที่ไม่มีนักพยาธิแพทย์ ต้องรอผลตรวจนาน เพราะต้องใช้เวลาในการส่งผลตรวจไปให้พยาธิแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญภายนอกทำหน้าที่วิเคราะห์ ซึ่งถ้าหากนวัตกรรมชิ้นนี้ถูกนำไปใช้งานจริง กระบวนการตรวจวิเคราะห์เซลล์มะเร็งปากมดลูกก็จะใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาที และส่งผลได้ใน 1 วัน ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการบำบัดรักษาต่อไปได้รวดเร็ว ทั้งสามารถตรวจผู้ป่วยได้จำนวนเพิ่มมากขึ้น
ขณะนี้มีหลายโรงพยาบาลได้ให้ความสนใจในนวัตกรรมนี้ ส่วนแผนอนาคตจะพัฒนาเครื่องสแกนแผ่นสไลด์ให้มีความเสถียรและสะดวกต่อการใช้งานมากขึ้น โดยผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องมีความรู้เรื่องอุปกรณ์ก็สามารถใช้งานได้เพียงแค่กดปุ่มเดียวเท่านั้น เราจะขอความร่วมมือกับคณะแพทย์ หรือโรงพยาบาลให้ช่วยเก็บรูปภาพเซลล์ปากมดลูก เพื่อนำมาสอนระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้มีความแม่นยำในการวินิจฉัยเพิ่มขึ้น รวมถึงพัฒนาและต่อยอดให้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) สามารถแยกระยะของเซลล์ที่มีโอกาสเติบโตไปเป็นเซลล์มะเร็งว่ามีโอกาสมากน้อยเพียงใด"
คนรุ่นใหม่ผนวกพลัง AI ร่วมขับเคลื่อนอนาคตสังคมไทย ตอบโจทย์คุณภาพ เวลา ความเร็ว ราคา ลดความเหลื่อมล้ำ คุณภาพชีวิตที่ดีและแก้ปัญหาการขาดบุคคลากรแพทย์ ด้วยนวัตกรรม เพื่อสุขภาพ 4.0
คำอธิบายภาพ
1.สุวิชา ศศิวิมลกุล (ฟลุ๊ค)
2. ดร.วิบูลย์ ปิยวัฒนเมธา อจ.ที่ปรึกษาโครงการ กับสองเมคเกอร์ ธนกฤษ จิตติชัยเวทย์ และสุวิชา ศศิวิมลกุล
3 - 4 สุวิชา ศศิวิมลกุล (ฟลุ๊ค) และธนกฤษ จิตติชัยเวทย์ (เกม) ทีมเจ้าของผลงานนวัตกรรม
5 - 6. เครื่องสแกนแผ่นสไลด์ ระบบซอฟท์แวร์ด้วยเทคโนโลยี AI...นวัตกรรมเพื่อสุขภาพ 4.0
7. จากแรงบันดาลใจ สู่การค้นคว้านำ AI มาสร้างนวัตกรรมตอบโจทย์คุณภาพ เวลา ราคา ลดความเหลื่อมล้ำ และแก้ปัญหาขาดแคลนแพทย์
8.. ได้รับรางวัลจากเวทีสุดยอดนวัตกรรม Best Innovation Awards