กรุงเทพฯ--25 มิ.ย.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
กลุ่มยานยนต์ ส.อ.ท. ขอให้ภาครัฐพิจารณามาตรการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ ขนาดใหญ่ พร้อมกำหนดอายุโครงรถ (Chassis) ของรถบรรทุก รถโดยสาร และรถหัวลาก และห้ามการนำเข้ารถบรรทุก รถโดยสาร รถหัวลาก และโครงรถที่ใช้แล้วเข้ามาภายในประเทศ
นายครรชิต ไชยสุโพธิ์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากข้อมูลปริมาณการจดทะเบียนรถบรรทุก และรถโดยสารภายในประเทศที่ไม่สอดคล้องกับปริมาณการนำเข้ารถใหม่สำเร็จรูป ปริมาณการผลิตรถบรรทุกและรถโดยสารภายในประเทศ ผู้ประกอบการรถบรรทุกตรวจพบว่า สาเหตุมาจากปัญหาการนำเข้ารถบรรทุกเก่า รถโดยสารเก่า รถหัวลากเก่า และโครงรถที่ใช้แล้ว เข้ามาในประเทศโดยไม่มีการกำหนดปริมาณการนำเข้าและอายุของโครงรถ ทั้งยังอนุญาตให้นำโครงรถที่จดทะเบียนแล้วนำกลับมาประกอบชิ้นส่วนใหม่ และสามารถจดทะเบียนเป็นรถใหม่ได้อีก โดยไม่มีการกำหนดมาตรฐานหรือข้อบังคับใดๆ ภายในประเทศเลย
จึงกล่าวได้ว่า อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุจากรถบรรทุกและรถโดยสารได้อย่างยั่งยืน หรือเป็นรูปธรรมตามที่ได้รับทราบข่าวอยู่บ่อยครั้ง ทั้งยังก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ และกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนขนาดใหญ่ในการขยายการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ
กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จึงขอนำเสนอต่อภาครัฐ ดังนี้
1. ไม่ควรอนุญาตให้มีการนำเข้ารถบรรทุกรถเก่า รถโดยสารเก่า รถหัวลากเก่า และโครงรถที่ใช้แล้วจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศ
2. เพื่อความปลอดภัยของประชาชนผู้ใช้รถ และลดการเกิดสารมลพิษทางอากาศ ควรมีการกำหนดอายุของโครงรถบรรทุก โครงรถโดยสาร และโครงรถหัวลากเก่า รวมถึงการจัดทำมาตรฐานด้านต่างๆ สำหรับรถบรรทุก รถโดยสาร
3. ขอให้ภาครัฐมีมาตรการห้ามจดทะเบียนรถบรรทุก รถโดยสาร และรถหัวลากที่ผลิตหรือประกอบมาจากโครง (Chassis) เก่าในประเทศ หรือโครง (Chassis) เก่านำเข้าจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะนำเข้ามาในลักษณะใดก็ตาม
4. สนับสนุนให้เกิดการประกอบรถบรรทุกและรถโดยสาร ส่งเสริมการใช้ชิ้นส่วนรถบรรทุกและรถโดยสารภายในประเทศ และการขยายอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น การต่อตัวถังกระบะบรรทุก การต่อตัวถังรถโดยสาร รถผสมคอนกรีต และตู้ห้องเย็น เป็นต้น
5. สนับสนุนให้รถบรรทุกและรถโดยสารเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของอาเซียน เป็นผลิตภัณฑ์เป้าหมายด้านความปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ การเพิ่มศักยภาพด้านเทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ การทำให้อุตสาหกรรมพัฒนาอย่างต่อเนื่องทั้งภายในประเทศและการส่งออกไปต่างประเทศ ตลอดจนการได้รับความไว้วางใจจากผู้ลงทุนขนาดใหญ่ จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง