กรุงเทพฯ--25 มิ.ย.--ปตท.
ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์ปรับลดลง โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 0.94 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 74.75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 0.06 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 66.15 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 2.49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 71.73 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 3.88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 80.89 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดีเซล ลดลง 3.07 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 85.46 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- การประชุมของกลุ่ม OPEC ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 61 มีมติเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันตั้งแต่เดือน ก.ค. 61 เพื่อให้อัตราความร่วมมือในการลดปริมาณการผลิตอยู่ที่ระดับ 100% (เทียบเท่าการลดปริมาณการผลิตลง 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปริมาณการผลิตในเดือน ต.ค. 59 ขณะที่เดือน พ.ค. 61 ลดปริมาณการผลิตประมาณ 1.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 29.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน เทียบเท่าระดับความร่วมมือที่ 150%) อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมไม่ได้ระบุชัดเจนเกี่ยวกับปริมาณการผลิตที่จะเพิ่มขึ้น
- สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนและสหภาพยุโรปลุกลาม วันที่ 15 มิ.ย. 61 ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Donald Trump ประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน 25% มูลค่า 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ใช้เทคโนโลยีระดับสูง) ตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค. 61 ในเวลาต่อมา วันที่ 18 มิ.ย. 61 จีนประกาศตอบโต้เก็บภาษีนำเข้าสินค้า จากสหรัฐฯ รวม 659 รายการ ที่อัตรา 25% มูลค่า 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เน้นสินค้าเกษตรกรรม มูลค่า 34,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ครอบคลุมน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป (ยังมิได้ระบุเวลาในการบังคับใช้แน่ชัด) ซึ่งต่อมาประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศให้ผู้แทนการค้าพิจารณาจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มเติม ที่อัตรา 10 % เป็นมูลค่า 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และในวันที่ 20 มิ.ย. 61 สหภาพยุโรป (EU) ประกาศเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ มูลค่า 2,800 ล้านยูโร หรือประมาณ 3,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อาทิ เหล้าวิสกี้ และรถจักรยานยนต์
- Energy Information Administration (EIA) คาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) ของสหรัฐฯ ในเดือน ก.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 141,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 7.34 ล้านบาร์เรลต่อวันโดยแหล่ง Permian Basin เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 7,300 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 3.35 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- State Industrial Commission รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากแหล่งทะเลเหนือ (North Sea) ในยุโรป เดือน เม.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 6,300 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 1.22 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- Joint Organizations Data Initiative (JODI) รายงานปริมาณส่งออกน้ำมันดิบของซาอุดิอาระเบีย เดือน เม.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 190,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 7.31 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบลดลงจากเดือนก่อน 3,900 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 9.87 ล้านบาร์เรลต่อวัน และอัตราการกลั่นของโรงกลั่นในเดือน เม.ย. 61 ลดลงจากเดือนก่อน 285,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 มิ.ย. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 5.9 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 426.5 ล้านบาร์เรล
- National Oil Corp. (NOC) บริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบียรายงาน Libyan National Army (LNA) ยึดท่าส่งออกน้ำมัน Es Sider (340,000 บาร์เรลต่อวัน) และ Ras Lanuf (220,000 บาร์เรลต่อวัน) ในลิเบีย คืนจากกองกำลังติดอาวุธ หลังการผลิตน้ำมันดิบของประเทศ ลดลง 450,000 บาร์เรลต่อวัน ในช่วงตลอด 1 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 14 มิ.ย. 61 และประกาศเหตุสุดวิสัยการส่งมอบน้ำมันดิบ อย่างไรก็ตาม ถังเก็บน้ำมันจำนวน 2 ถัง ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่าปีในการซ่อมแซม
- บริษัท PDVSA ของเวเนซุเอลารายงานปริมาณส่งออกน้ำมันดิบ ช่วงวันที่ 1-17 มิ.ย. 61 ลดลงมาอยู่ที่ 765,000 บาร์เรลต่อวัน จากเดือน พ.ค. 61 ที่ 1.13 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ลดลงจากเดือนก่อน 32 %) และเดือน ม.ค. - มิ.ย. 61 ลดลงจากปีก่อน 26% เฉลี่ยอยู่ที่ 1.24 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบลดลง และเรือรอการขนถ่ายน้ำมันอย่างหนาแน่น เพราะท่าส่งออกจำกัด
- พนักงานบริษัท Total ซึ่งปฏิบัติงานที่แท่นผลิตปิโตรเลียม ในทะเลเหนือ 3 แห่ง ได้แก่ Alwyn, Dunbar และ Elgin-Frank เริ่มลงคะแนนเสียง ตั้งแต่ 20 มิ.ย. 61 จนถึง 28 มิ.ย. 61 เพื่อพิจารณาการหยุดงานประท้วงเงื่อนไขการทำงานนอกจากนั้น สหภาพแรงงาน Safe ของนอร์เวย์ขู่ว่าพนักงานที่แท่นขุดเจาะน้ำมันดิบนอกชายฝั่งของนอร์เวย์ จำนวน 2,250 ราย เตรียมผละงานประท้วง (Strike) หลังข้อเสนอเกี่ยวกับเงินเดือนจากผู้ประกอบการยังไม่เป็นที่น่าพอใจ
แนวโน้มราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมันผันผวนหลังจบการประชุมของกลุ่ม OPEC โดยปิดตลาดวันศุกร์ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่เช้าวันนี้ (09.40 น.) ราคาน้ำมันปรับลดลงโดย ICE Brent อยู่ที่ 74.1 เหรียญต่อบาร์เรล และ Nymex WTI อยู่ที่ 68.4 เหรียญต่อบาร์เรล ผลจากมติการเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันของกลุ่ม OPEC เพื่อให้การปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันกลับสู่ระดับ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปริมาณการผลิตในเดือน ต.ค. 59 เนื่องจากในช่วงก่อนหน้ากลุ่ม OPEC ลดกำลังการผลิตมากกว่าข้อตกลง โดยเดือน พ.ค. 61 การผลิตของกลุ่ม OPEC (ไม่รวมลิเบียและไนจีเรีย) อยู่ที่ 29.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำกว่าระดับ 31.08 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ ที่ประชุมยังไม่ระบุชัดเจนถึงปริมาณการผลิตที่จะเพิ่มขึ้นโดยรวมและสัดส่วนของแต่ละประเทศ อย่างไรก็ตาม นาย Khalid Al-Falih รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานซาอุดีอาระเบีย เผยว่ากลุ่ม OPEC และ Non-OPEC จะผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 1.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ทางการอิรัก เผยว่าการผลิตที่จะเพิ่มขึ้นจริงอยู่ที่ 0.77 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากบางประเทศติดปัญหาทำให้ไม่สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตได้ ทั้งนี้ Energy Aspects คาดว่าปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นจะมาจาก ซาอุดีอาระเบีย (0.3-0.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน) รัสเซีย (0.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (0.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน) และ คูเวต (0.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ด้านการคว่ำบาตร (Sanction) อิหร่านเกี่ยวกับน้ำมันของสหรัฐฯ ซึ่งจะมีผลในวันที่ 4 พ.ย. 61 ส่งผลให้ล่าสุดโรงกลั่นน้ำมันของญี่ปุ่นจะหยุดการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน ตั้งแต่เดือน ต.ค. 61 เป็นต้นไป (เดือน เม.ย. 61 ญี่ปุ่นนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน ลดลง 10,500 บาร์เรลต่อวัน จากปีก่อน มาอยู่ที่ 30,900 บาร์เรลต่อวัน) ให้จับตาการพบปะระหว่างนาย Rick Perry รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ และนาย Alexander Novak รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานรัสเซีย ในวันที่ 26 มิ.ย. 61 ซึ่ง รมต. พลังงานรัสเซีย มีกำหนดเข้าร่วมการประชุม The World Gas Conference ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 72.0-77.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 65.0-70.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 69.0-74.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงจากโรงกลั่นหลายแห่งในเอเชียกลับมาดำเนินการในเดือน มิ.ย. 61 หลังปิดซ่อมบำรุง อาทิ โรงกลั่น Zhenhai (กำลังการกลั่น 460,000 บาร์เรลต่อวัน) โรงกลั่น Maoming (กำลังการกลั่น 360,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท Sinopec ของจีน และโรงกลั่น Kawasaki (กำลังการกลั่น 235,000 บาร์เรลต่อวัน) โรงกลั่นน้ำมัน Osaka (กำลังการกลั่น 115,000 บาร์เรลต่อวัน) ในญี่ปุ่น นอกจากนั้น สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (National Bureau of Statistics: NBS) รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันเบนซิน เดือน พ.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3.2% อยู่ที่ 97.4 ล้านบาร์เรล และบริษัท China National Offshore Oil Corp. (CNOOC) ของจีนมีแผนส่งออกน้ำมันเบนซิน จาก Huizhou ในเดือน มิ.ย. 61 ปริมาณ 1.3 ล้านบาร์เรล ขณะที่บริษัท Pertamina ของอินโดนีเซียนำเข้าน้ำมันเบนซินเดือน ก.ค. 61 ลดลง 2 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 9 ล้านบาร์เรล เนื่องจากอุปสงค์น้ำมันเบนซินเบาบางเนื่องจากเทศกาลรอมฎอนสิ้นสุด ด้านปริมาณสำรอง EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 มิ.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 3.2 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 240 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 3 เดือน อย่างไรก็ตาม บริษัท Petrolimex ของเวียดนามออกประมูลซื้อน้ำมันเบนซิน 92 RON ปริมาณ 100,000 บาร์เรล ส่งมอบ 12-16 มิ.ย. 61 และบริษัท Nayara Energy ของอินเดียยกเลิกการออกประมูลขายน้ำมันเบนซิน 92 RON ปริมาณ 280,00-300,000 บาร์เรล ส่งมอบ 14-19 มิ.ย. 61 เนื่องจากต้องส่งมอบให้สถานีบริการน้ำมันภายในประเทศที่มีอุปสงค์เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูร้อน ด้านปริมาณสำรอง PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 16 มิ.ย. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 100,000 บาร์เรล อยู่ที่ 10.9 ล้านบาร์เรล และ IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 20 มิ.ย. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 56,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 12.07 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบกว่า 7 เดือน ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 78.0-83.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของอินโดนีเซียรายงานปริมาณนำเข้าน้ำมันดีเซล เฉลี่ยเดือน ม.ค. - เม.ย. 61 ลดลงจากปีก่อน 34 % อยู่ที่ 97,000 บาร์เรลต่อวัน ประกอบกับ อินเดียส่งออกน้ำมันดีเซล อาทิ บริษัท Naraya Energy ออกประมูลขายน้ำมันดีเซล ปริมาณ 490,000-525,000 บาร์เรล ส่งมอบ 18-22 ก.ค. 61 และ Mangalore Refinery and Petrochemicals Ltd. (MRPL) ออกประมูลขายน้ำมันดีเซล กำมะถัน 0.05% ปริมาณ 600,000 บาร์เรล ส่งมอบ 2-4 ก.ค. 61 และบริษัทข้อมูลด้านพลังงาน JLC ของจีนรายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลของโรงกลั่นอิสระของจีน ที่เมือง Shandong เดือน พ.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 7.4% อยู่ที่ระดับ 4.95 ล้านบาร์เรล และ Reuters รายงานนายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน และเมืองอื่นๆ ในอังกฤษ มีแผนระงับการจำหน่ายรถยนต์สันดาปภายในทั้งเครื่องยนต์เบนซินและดีเซลเร็วขึ้นจากเดิมภายในปี พ.ศ. 2583 มาเป็น พ.ศ. 2573 ซึ่งเรียกว่าแผน Road to Zero เพื่อปรับปรุงสภาพอากาศ ด้านปริมาณสำรอง EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 มิ.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 2.7 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 117.4 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 1 เดือน PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 16 มิ.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 40,000 บาร์เรล อยู่ที่ 9.8 ล้านบาร์เรล และ IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 20 มิ.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 50,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 9.05 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบกว่า 2 เดือน อย่างไรก็ตาม Bloomberg รายงาน Arbitrage น้ำมันดีเซลจากสิงคโปร์ไป Fujairah ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เปิด ล่าสุด ผู้ค้าน้ำมันในสิงคโปร์ส่งออกน้ำมันดีเซล ปริมาณ 2 ล้านบาร์เรล โดยเรือ VLCC "Xin Hui Yang" ที่ใช้ขนส่งน้ำมันเป็นครั้งแรกมีกำหนดส่งมอบวันที่ 24 มิ.ย. 61 ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 82.5-87.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล