พณ. แจงผู้ประกอบการไทย เตรียมใช้กฎหมายปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น

ข่าวทั่วไป Thursday December 6, 2007 15:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ธ.ค.--คต.
พระราชบัญญัติมาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguards) ผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว รอผลบังคับใช้ต้นปีหน้า กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) ประเดิมให้ความรู้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ในวันที่ 12 ธันวาคม 2550 ณ โรงแรมอโนมา กรุงเทพฯ
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) และได้มีการจัดทำข้อตกลงทางการค้าเสรีต่าง ๆ เช่น เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) เขตการค้าเสรี (FTA) ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย — ญี่ปุ่น (JTEPA) อาจทำให้มีการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไทยซึ่งไม่สามารถแข่งขันกับสินค้านำเข้านั้นได้ รัฐบาลไทยจึงผลักดันให้มีการใช้กฎหมายเกี่ยวกับมาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguards) เพื่อเป็นเครื่องมือในการปกป้องภาคเกษตรและอุตสาหกรรมไทยให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ขณะนี้กฎหมายดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว จะมีผลบังคับใช้ในเร็ว ๆ นี้
กรมการค้าต่างประเทศ เป็นหน่วยงานที่กำกับ ดูแล และดำเนินการเกี่ยวกับพระราชบัญญัติมาตรการปกป้องฯ โดยตรง ได้กำหนดจัดสัมมนา เรื่อง “ มาตรการ Safeguards กับการปกป้องอุตสาหกรรมไทย ” เพื่อเผยแพร่ความรู้ และสาระสำคัญ รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากมาตรการฯ โดยเรียนเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ นางอรรชกา สีบุญเรือง ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม รศ. ดร.ธรรมวิทย์ เทอดอุดมธรรม อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายกิตติ ตั้งจิตรมณีศักดา รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนกุล กรรมการรองเลขาธิการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นวิทยากรร่วมบรรยายในหัวข้อ “มุมมองต่อมาตรการ Safeguards” โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดสัมมนาและบรรยายพิเศษ เรื่อง “ มาตรการ Safeguards กับการปกป้องอุตสาหกรรมไทย ” ในวันพุธที่ 12 ธันวาคม 2550 เวลา 09.00 — 12.15 น. ณ โรงแรมอโนมา กรุงเทพฯ สนใจเข้าร่วมสัมมนาได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด สำรองที่นั่ง หรือติดต่อสอบถามที่เบอร์สายด่วน 1385 หรือ 02-5474738 — 40

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ