กรุงเทพฯ--26 มิ.ย.--โฟร์ฮันเดรท
ปัจจุบันตลาดสุขภัณฑ์เริ่มมีการขยายตัวมากขึ้น ส่งผลให้มีสุขภัณฑ์ที่มีรูปแบบ และดีไซน์ที่มีความแตกต่างและหลากหลายเป็นจำนวนมาก ทำให้หลายคนที่กำลังจะปลูกบ้านใหม่ หรือต้องการจะเปลี่ยนสุขภัณฑ์ที่ใช้อยู่เดิมเกิดความสับสนว่าสุขภัณฑ์แบบไหนกันแน่ที่จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของเราได้ ครั้งนี้ 'nahm' ขอแนะนำสุขภัณฑ์แต่ละแบบว่ามีลักษณะ ข้อดี ข้อด้อยต่างกันอย่างไร เพื่อที่จะได้ช่วยทำให้การเลือกซื้อสุขภัณฑ์ในครั้งต่อไปของคุณง่ายขึ้น
(1) สุขภัณฑ์แบบราดน้ำ ถือเป็นสุขภัณฑ์แบบแรกๆที่ใช้กันในเมืองไทย ซึ่งมีให้เลือกทั้งแบบนั่งยองหรือที่เรามักจะติดปากเรียกกันว่าส้วมซึม และแบบนั่งราบ ที่เป็นโถสุขภัณฑ์แต่ไม่มีระบบกดชำระ มักจะพบเห็นได้บ่อยในห้องน้ำสาธารณะต่าง ๆ ซึ่งข้อดีของสุขภัณฑ์ลักษณะนี้คือ ราคาถูก ติดตั้งง่าย ดูแลรักษาง่าย สามารถควบคุมการใช้น้ำในการชำระล้างได้ แต่ก็มีข้อด้อยในเรื่องของความสวยงาม และการควบคุมสะอาดของพื้นที่โดยรอบที่จะต้องเปียกแฉะและมีความชื้นตลอดเวลา ซึ่งอาจเป็นแหล่งก่อตัวของเชื้อโรคได้เป็นอย่างดี และอาจก่อให้เกิดอันตรายจากการใช้งานหากลื่นล้มอีกด้วย
(2) สุขภัณฑ์แบบฟลัชวาล์ว (Flush Valve) เป็นสุขภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมในการใช้งานสำหรับห้องน้ำสาธารณะแทนที่สุขภัณฑ์แบบราดน้ำ เพราะความสะดวกในการทำความสะอาดพื้นที่โดยรอบ อีกทั้งยังมีดีไซน์ให้เลือกหลากหลาย เสริมความสวยงามน่ามอง และน่าใช้งานให้กับห้องน้ำสาธารณะมากขึ้น ข้อดีของสุขภัณฑ์ลักษณะนี้คือ ประหยัดพื้นที่ สามารถติดตั้งในพื้นที่จำกัด เพราะไม่มีถังพักน้ำ นอกจากนี้ยังดูแลรักษาได้ง่าย ซ่อมแซมได้ง่าย แต่ข้อด้อย คือ ปริมาณการใช้น้ำในการชำระล้างแต่ละครั้งจะใช้น้ำมาก เพราะเป็นสุขภัณฑ์ที่ใช้แรงดันน้ำในการชำระล้างสิ่งสกปรก เหตุเพราะสุขภัณฑ์ลักษณะนี้ไม่มีถังพักน้ำ ใช้การต่อท่อน้ำมาจากท่อน้ำอาคารโดยตรง จึงเหมาะกับห้องน้ำสาธารณะที่มีเครื่องปั๊มน้ำแรงดันสูง เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงเรียน สวนสาธารณะ
(3) สุขภัณฑ์แบบสองชิ้น (Two Piece) เป็นสุขภัณฑ์แบบใช้ระบบกดชำระล้าง โดยจะแยกชิ้นส่วนกันระหว่างตัวโถสุขภัณฑ์และถังพักน้ำ ซึ่งข้อดีของสุขภัณฑ์ลักษณะนี้ คือ ขนย้ายได้ง่าย ติดตั้งง่าย เพียงยึดทั้งสองส่วนเข้าด้วยกันโดยใช้น็อตยึด ซึ่งทำให้เมื่อส่วนใดส่วนหนึ่งเกิดชำรุด ก็สามารถเปลี่ยนซ่อมแซมเฉพาะส่วนได้
(4) สุขภัณฑ์แบบชิ้นเดียว (One Piece) เป็นสุขภัณฑ์ที่รวมถังพักน้ำ กับตัวโถสุขภัณฑ์เข้าไว้เป็นชิ้นเดียวกัน ซึ่งข้อดีของสุขภัณฑ์ลักษณะนี้คือการทำความสะอาดได้ง่ายกว่าเพราะไม่มีรอยต่อระหว่างตัวสุขภัณฑ์ และถังพักน้ำ ส่วนในด้านการใช้งาน สุขภัณฑ์ลักษณะนี้จะมีเสียงจากการใช้งานที่เบากว่า ทำให้เหมาะกับการใช้งานในที่พักอาศัย
(5) สุขภัณฑ์แบบแขวนผนัง (Wall - Mounted) เป็นสุขภัณฑ์แบบใหม่ที่ค่อนข้างได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน เหมาะกับการตกแต่งห้องน้ำในหลากหลายสไตล์ โดยจุดเด่นของสุขภัณฑ์ในลักษณะนี้ คือ ความสวยงาม ดูสะอาดตาของห้องน้ำที่จะมองเห็นแค่เพียงโถสุขภัณฑ์ และแป้นกดสำหรับชำระล้าง ส่วนตัวถังพักน้ำจะถูกซ่อนไว้หลังกำแพง เหมาะกับห้องน้ำที่มีพื้นที่จำกัด ดังนั้นถ้าหากต้องการเลือกใช้สุขภัณฑ์ลักษณะนี้อาจจะต้องมีการเจาะช่อง หรือประตูสำหรับใช้ดูแลและซ่อมบำรุงถังพักน้ำ เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างยาวนาน
(6) สุขภัณฑ์แบบตั้งพื้น (Floor Standing) เป็นสุขภัณฑ์ที่พัฒนาต่อมาจากสุขภัณฑ์แบบแขวนผนัง แต่ปรับเปลี่ยนให้ตัวโถสุขภัณฑ์ตั้งอยู่บนพื้น และมีปุ่มกดสำหรับชำระล้าง ซึ่งสุขภัณฑ์ลักษณะนี้ก็ยังคงต้องเจาะช่อง หรือประตูสำหรับการซ่อมบำรุงถังพักน้ำเช่นเดียวกัน
ท่านผู้อ่านก็สามารถเลือกใช้สุขภัณฑ์ได้ตามต้องการ โดยควรพิจารณาจากพื้นที่ ความสะดวกสบายในการดูแลรักษา และความสวยงามร่วมกัน และนอกจากนี้ควรจะเลือกสุขภัณฑ์ที่คุณภาพดี ออกแบบสวยงาม และมีสัญลักษณ์ 'HYGIENE 360' ซึ่งการันตีโดย 'nahm' เพื่อที่จะแน่ใจได้ว่าสุขภัณฑ์ที่เลือกใช้นั้นมีทั้งคุณภาพ และใส่ใจสุขอนามัยของผู้ใช้ด้วย