กรุงเทพฯ--26 มิ.ย.--เอสซีจี
1. ที่มาของโครงการ
ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทะเลชายฝั่ง ซึ่งเป็นแหล่งทำกินของประมงพื้นบ้านและเป็นเสมือนคลังอาหารสำคัญของประเทศไทยที่มีพื้นที่ชายฝั่งทะเลถึง 2 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมด เอสซีจีจึงมุ่งสร้างการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ เริ่มตั้งแต่การดูแลและพัฒนากระบวนการผลิตภายในโรงงานให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ไปจนถึงการปลูกจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพนักงาน คู่ค้า พันธมิตรทางธุรกิจ ภาครัฐ องค์กรที่เกี่ยวข้อง ชุมชน และประชาชนทั่วไป ให้ร่วมมือเพื่อแก้ไขและดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างยั่งยืน จากต้นน้ำถึงปลายน้ำ
โครงการ 'บ้านปลาเอสซีจี' ได้รับการริเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2555 โดยปัจจุบันย่างเข้าปีที่ 7 ของการดำเนินงาน และได้ขยายความร่วมมือจนครอบคลุมชุมชนชาวประมงพื้นบ้านทั้งหมด 34 ชุมชน ในจ.ระยอง จ.ชลบุรี และ จ.จันทบุรี และมีการวางบ้านปลารวมกว่า 1,400 หลัง ครอบคลุมพื้นที่อนุรักษ์กว่า 35 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านช่วยกันดูแลให้เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนและวัยเจริญพันธุ์ ที่ปลอดการจับปลา เพื่อฟื้นฟูความสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเลและเพิ่มจำนวนสัตว์น้ำอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ กลายเป็นขุมทรัพย์ใกล้ชายฝั่งให้ชาวประมงพื้นบ้านมีแหล่งทำมาหากิน มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดี
และในปี 2561 เอสซีจีได้นำแนวคิดเรื่อง'รักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที' ซึ่งเป็นการขยายผลสำเร็จของโครงการ รักษ์น้ำเพื่ออนาคต เพื่อสืบสาน รักษา ต่อยอด การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนและเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ตามพระราชปณิธานจากภูผาสู่มหานที ตั้งแต่ ต้นน้ำ - ป่าไม้ ไปจนถึง กลางน้ำ - เกษตรกรรม และ ปลายน้ำ - ประมง ผ่านกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมกับคนในชุมชนให้เข้าใจการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ตนเองอย่างแท้จริง ส่งเสริมให้ทุกคนมีความหวงแหนและเป็นเจ้าของร่วมกัน ซึ่งโครงการบ้านปลาเอสซีจี ถือเป็นส่วนหนึ่งของรักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที
2. นวัตกรรมบ้านปลาเอสซีจีจากท่อ PE100
วัสดุที่ใช้ประกอบเป็นบ้านปลาเอสซีจี คือ ท่อ PE100 ซึ่งเป็นท่อที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกโพลิเอทีลีนเกรดพิเศษ (High Density Polyethylene Pipe) ของธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ที่เหลือจากกระบวนการทดสอบขึ้นรูป เป็นการสร้างคุณค่าให้กับสิ่งของเหลือใช้ (Waste to Value) ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยท่อ PE100 นี้ ใช้เป็นท่อส่งน้ำและท่อส่งก๊าซ มีความแข็งแรงทนทาน อายุการใช้งานนานกว่า 50 ปี เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งผ่านการทดสอบคุณสมบัติท่อด้วยสถาบัน VTT, Finland
และสถาบันอื่นๆ จากทั่วโลก ในด้าน SFS-EN ISO 8795:2001 โดยนำน้ำที่สกัดสารเคมีออกจากท่อ มาทดสอบ
หาสารอันตราย และทดสอบเรื่องกลิ่นหรือสารปนเปื้อนจากผู้เชี่ยวชาญ จากการทดสอบพบว่าปลอดภัยไม่มีสารเคมีที่อันตรายออกมาสู่น้ำทะเล จึงเหมาะกับการนำมาใช้เป็นวัสดุสำหรับสร้างบ้านปลา
การประกอบบ้านปลาจะใช้ท่อ PE100 ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 110 มม. เชื่อมต่อเป็นบ้านปลา ขนาดประมาณ 2 ตารางเมตรต่อหลัง (กว้าง 1.2 เมตร ยาว 1.2 เมตร สูง 1.1 เมตร) น้ำหนัก 120 กิโลกรัม โดยลักษณะการจัดวาง จะใช้ลูกปูน น้ำหนักราว 10 กิโลกรัม วางที่ฐานบ้านปลา โดยการใช้ท่อเป็นวัสดุหลักช่วยให้น้ำสามารถไหลเข้าออกได้สะดวก เหมาะแก่การเข้ามาอยู่อาศัยของสัตว์น้ำขนาดเล็ก
จำลอง: ลักษณะการจัดวางบ้านปลา 1 กลุ่ม
นอกจากนี้ ดีไซน์ของบ้านปลาเอสซีจียังเกิดจากการเรียนรู้และพัฒนาร่วมกันระหว่าง เอสซีจี สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่ 1 (ระยอง) และชุมชนชาวประมง
พื้นบ้าน จ.ระยอง ทำให้สามารถปรับปรุงรูปทรงของบ้านปลาจากเดิมที่เป็น "ทรงสี่เหลี่ยมลูกบาศก์" ให้เป็น "ทรงสามเหลี่ยม" ที่ตอบโจทย์และใช้งานได้จริง โดยเหลี่ยมมุมที่ลดลงช่วยลดปัญหาขอบท่อเกี่ยวอวนขาด ช่วยให้ประกอบง่ายขึ้นและใช้วัสดุน้อยลง น้ำหนักเบาลงง่ายต่อการขนย้ายเพื่อนำไปวางในทะเล และยังคงทนต่อกระแสน้ำ ไม่พลิกหรือเคลื่อนย้ายง่ายเมื่ออยู่ในทะเล
พื้นที่การจัดวางอยู่ในรัศมีของการทำประมงพื้นบ้าน (เรือเล็ก) และเป็นพื้นที่ที่กลุ่มประมงพื้นบ้านสามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง โดยจัดวางใกล้กันอย่างน้อย 10 หลัง คิดเป็นพื้นที่ราว 20 ตารางเมตรต่อกลุ่ม
3. บ้านปลารีไซเคิล
เพื่อช่วยลดปัญหาขยะพลาสติก และนำกลับมาสร้างคุณค่าให้ท้องทะเลไทยตามแนวคิด Circular Economy เอสซีจีจึงได้ต่อยอดการทำบ้านปลา ด้วยการคิดค้น และจัดทำต้นแบบ "บ้านปลารีไซเคิล" ขึ้น โดยนำขยะพลาสติกที่พบบริเวณชายหาด และแหล่งชุมชนทั่วไป เช่น ถุงพลาสติก ฝาขวดพลาสติก มาผ่านกระบวนการ และขึ้นรูปเป็นท่อสำหรับสร้างบ้านปลารีไซเคิล จากผลการทดสอบในเบื้องต้น พบว่าบ้านปลารีไซเคิลมีความแข็งแรงทนทาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
แนวคิดการสร้างบ้านปลารีไซเคิลจะมีส่วนช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกในทะเลในขณะเดียวกันยังจะช่วยเพิ่มความสมบูรณ์ของทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง สร้างสมดุลสู่ระบบนิเวศอย่างยั่งยืน
4. ประโยชน์ที่ได้จากโครงการบ้านปลาเอสซีจี
ยิ่งใหญ่กว่า 'การมอบบ้านให้ปลา' คือ 'การสร้างและสานต่อความร่วมมือ' ระหว่างภาครัฐ เอกชน ชุมชน และจิตอาสา เพื่อส่งเสริมชุมชนเข้มแข็งและพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวประมงพื้นบ้าน และเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ทรัพยากรชายฝั่งทะเลอย่างยั่งยืน
ประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม
ช่วยเพิ่มความสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ปัจจุบันมีพื้นที่อนุรักษ์ในทะเลจังหวัดระยอง ชลบุรี และจันทบุรี รวม 35 ตารางกิโลเมตร
จากผลการสำรวจเมื่อเดือนธันวาคม 2560 พบความหลากหลายทางชีวภาพและความสมบูรณ์มากขึ้นจากการสำรวจ 3 ครั้งที่ผ่านมา (ในเดือนธันวาคม 2559, เมษายน และสิงหาคม 2560) โดยสิ่งมีชีวิตในทะเลบริเวณบ้านปลาเพิ่มขึ้นเป็น 172 ชนิด ซึ่งเป็นปลาจำนวน 35 ชนิด เพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งสุดท้ายในเดือนเมษายน 2560 (เดือนเมษายน 2560 พบสิ่งมีชีวิตในทะเลบริเวณบ้านปลาเป็น 120 ชนิด ซึ่งเป็นปลาจำนวน 28 ชนิด) โดยการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพบริเวณบ้านปลาในระยะเวลา 1 ปีทีผ่านมา พบกลุ่มสัตว์ต่างๆ โดยต่อไปนี้
กลุ่มสัตว์น้ำเศรษฐกิจ เช่น ปลาข้างเหลือง ปลากะรัง ปลาสละ ปลากุแล ปลาสลิดทะเล ปลากะพง ปลากะรอกแดง ปูหิน หอยแมลงภู่ และกั้ง
กลุ่มปลาสวยงาม เช่น ปลาหูช้าง ปลาโฉมงาม
กลุ่มสัตว์น้ำวัยอ่อน เช่น ลูกปู ลูกกุ้ง ลูกหอย ลูกปลาวัยอ่อน ตัวอ่อนแมงกะพรุน และตัวอ่อนของปะการัง
กลุ่มสัตว์เกาะติด เช่น เพรียงหิน ฟองน้ำ หอยสองฝา กัลปังหา และสาหร่ายทะเล
กลุ่มแพลงก์ตอน เช่น แพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์ ซึ่งเป็นอาหารของสิ่งมีชีวิตกลุ่มอื่นๆ
ประโยชน์ต่อชุมชนชาวประมง
ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่กลับมาอุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้รายได้และคุณภาพชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านดีขึ้น โดยเมื่อมีแหล่งประมงใกล้ชายฝั่ง ชาวประมงพื้นบ้านก็สามารถประหยัดค่าเชื้อเพลิงในการเดินเรือ และเพิ่มความปลอดภัยในการเดินเมื่อไม่ต้องทำประมงไกลชายฝั่ง โดยเฉพาะในช่วงมรสุมที่มีพายุฝน
ความร่วมแรงร่วมใจของชาวประมงจากชุมชนต่างๆ ในโครงการบ้านปลาเอสซีจี ส่งเสริมให้เกิดชุมชนเข้มแข็งที่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ และสร้างเครือข่ายประมงพื้นบ้านเพื่อร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน
ประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม
ช่วยกระตุ้นการสร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์ในวงกว้าง โดยอาศัยพลังจิตอาสาจากทั่วประเทศ ในปัจจุบันมีจิตอาสาร่วมสร้างบ้านปลาแล้วกว่า 10,000 คน (ข้อมูล ณ เดือนพฤษภาคม 2561)
สร้างการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากร รวมถึงความเข้าใจในวิถีประมงพื้นบ้าน โดยธุรกิจเคมิคอลส์ ในเอสซีจี ได้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้วิถีประมงชุมชนเนินฆ้อเมื่อปี 2558 ปัจจุบันมีผู้เข้าเยี่ยมชมศูนย์ฯ แล้วกว่า 2,000 คน (ข้อมูล ณ เดือนพฤษภาคม 2561)