กรุงเทพฯ--26 มิ.ย.--แคนเดอร์ ทรี
สำหรับผู้ประกอบการช่วงเวลาที่ยากและสำคัญที่สุด คือ 'ช่วงตั้งไข่ของธุรกิจ' ไหนจะปัญหาเรื่องบุคลากร ไหนจะต้องลุยการตลาด การควบคุมงบประมาณ การหาซับพลายเออร์ ที่สำคัญคือการกระบวนพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้คุณภาพ เพื่อหาต้นแบบที่ดีที่สุดก่อนออกสู่ตลาด คงจะดีไม่น้อยหากมีใครมีมืออาชีพ มาเป็นผู้ช่วยที่ปรึกษาต่อยอดธุรกิจ
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม คืออีกหน่วยงานภาครัฐที่พร้อมสร้างแต้มต่อให้กับผู้ประกอบการ จากการริเริ่มศูนย์ ITC (ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต : Industry Transformation Center) ขึ้น บทบาทของศูนย์แห่งนี้จะเข้ามาช่วยผู้ประกอบการอย่างไร? คงไม่มีใครอธิบายได้ดีไปกว่า นายวัชรุน จุ้ยจำลอง ผอ.กองพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ที่เผยให้เห็นว่าเป้าหมายหลักของศูนย์ ITC นี้ จัดตั้งขึ้นเพื่อยกระดับหรือ Transform ภาคอุตสาหกรรมการผลิต และ Transform SMEs ในภาคการทำงานอื่นด้วย ไม่ว่าจะเป็นการค้า การบริการและเรื่องของการเกษตร เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการในพื้นที่ต่างๆ ให้สามารถก้าวทันตามความเปลี่ยนแปลง สามารถยกระดับและพัฒนาธุรกิจการค้าไปสู่เชิงพาณิชย์ ด้วยการผสมผสานนวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ ภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้ผู้ประกอบการในการแข่งขันสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ตามนโยบายของรัฐบาลในการปฏิรูปประเทศไทยเข้าสู่ยุค 4.0
แรกเริ่มศูนย์ ITC เกิดจากที่กล้วยน้ำไทก่อน เป็นศูนย์ให้บริการ ITC ส่วนกลาง ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่กลางปี 2560 ต่อมาจึงกระจายไปยังศูนย์ส่วนภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 11 ภาค รวมถึงศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเซรามิกฯ ที่จ.ลำปาง รวมเป็น 12 แห่ง นอกจากนี้ยังมีในนิคมอุตสาหกรรมและกระจายไปถึงในระดับจังหวัดด้วย เรียกว่า เป็น "Mini ITC"
"เนื่องจากแต่ละพื้นที่ภูมิภาคมีจุดเด่นของอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน ศูนย์ ITC แต่ละภาคจึงมีการเน้นอุตสาหกรรมและให้บริการที่ต่างกัน แต่ทั้งหมดทำงานอยู่บนเป้าหมายเดียวกัน คือ ยกระดับสามด้าน ได้แก่ 1.การ Transform Product (ผลิตภัณฑ์), 2.Process (กระบวนการทำงาน ) และ 3.People (ผู้ประกอบการและบุคลากรในการทำงาน) โดยเราตั้งเป้าให้การ Transform ทั้งสามด้านดังกล่าว บรรลุผลสำเร็จภายในเวลาไม่เกิน 4 ปี โดยตอนนี้ภาคส่วนต่างๆ กำลังช่วยกันสร้างแพลตฟอร์มเพื่อให้ผู้ประกอบการรู้ถึงสถานภาพความเป็น 4.0 ของกิจการตนเอง"
เพื่อให้เห็นภาพว่าศูนย์ ITC จะเข้ามาช่วยสร้างแต้มต่อให้กับธุรกิจอย่างไร? จะยกภาพการทำงานและธุรกิจที่ได้รับการติดอาวุธจากศูนย์ ITC แล้ว จากศูนย์ภาคเหนือทั้งสองแห่ง ได้แก่ จ.ลำปางและจ.เชียงใหม่ โดยศูนย์ ITC ภาคที่ 1 ที่ จ.เชียงใหม่ จะโดดเด่นอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป และอุตสาหกรรม Creative Industry เพราะมีศักยภาพของเครื่องมือในการออกแบบ และมีศักยภาพของนักออกแบบของดีไซเนอร์ในพื้นที่อยู่บ้างแล้ว ส่วนที่ลำปางมีการพัฒนาไปเป็นศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเซรามิกและวัสดุอุตสาหกรรมที่ จ.ลำปาง เนื่องจากปัจจุบันอุตสาหกรรมเซรามิกในพื้นที่มีศักยภาพและกำลังพัฒนาตนเองไปเป็นศูนย์เกี่ยวกับวัสดุและกระบวนการ
นายทานทัต ยมเกิด ผอ.ศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเซรามิกและวัสดุอุตสาหกรรม กองพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม จังหวดลำปาง เปิดเผยว่าปัจจุบันศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (Industry Transformation Center) หรือศูนย์ ITC กลุ่มพัฒนาเซรามิกและวัสดุอุตสาหกรรม กองพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม จ.ลำปาง สามารถให้บริการแก่ผู้ประกอบการ SMEs ในพื้นที่ได้อย่างครบวงจร โดยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงผู้ประกอบการ ผู้ผลิต นวัตกรรม และงานวิจัย เข้าไว้ด้วยกัน แบ่งการให้บริการออกเป็น
1.ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม : เริ่มตั้งแต่กระบวนการเป็นศูนย์บริการข้อมูลผู้ประกอบการ บริการให้คำปรึกษาแนะนำแก้ไขปัญหาตามความต้องการของผู้ประกอบการเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์
2.ศูนย์ออกแบบและจัดทำต้นแบบผลิตภัณฑ์ : ออกแบบและพัฒนาปรับเปลี่ยนธุรกิจ
3.ศูนย์วิเคราะห์วิจัยวัสดุอุตสาหกรรม : วิเคราะห์/วิจัยและทดสอบคุณสมบัติทางกายภาพ-เคมีของแร่เซรามิก
4.ศูนย์เครื่องจักรกลางและโรงงานต้นแบบ : ให้บริการเครื่องมือและอุปกรณ์ ทั้งเครื่องมือตรวจวัดคุณภาพวัตถุดิบ ตลอดจนการให้บริการเครื่องจักรขนาดใหญ่สำหรับให้SMEs ที่ยังไม่พร้อมลงทุนเครื่องจักร, การให้บริการห้องสมุด เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ในการผลิตเซรามิกทุกรูปแบบ
5.ศูนย์แสดงสินค้าเชื่อมโยงธุรกิจ : จับคู่ทางธุรกิจ, การบริการสถานที่สำหรับจัดแสดงนิทรรศการและจำหน่ายสินค้า และการบริการสถานที่สำหรับการประชุม สัมมนา ฝึกอบรม เป็นต้น
"นับตั้งแต่เปิดศูนย์ฯ มีผู้ประกอบการเข้ามาขอรับบริการกว่า 200 ราย ส่วนใหญ่เข้ามาขอรับคำปรึกษาเรื่องกระบวนการผลิต โดยเฉพาะการใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เข้ามาพัฒนาเซรามิก เช่น การขอสูตรดิน สูตรเคลือบ หรือการตรวจคุณภาพของดิน เพื่อนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้น ช่วยลดต้นทุนการผลิต ซึ่งเรามีความชำนาญองค์ความรู้เหล่านี้อยู่แล้ว ยกตัวอย่างสูตรเคลือบเรามีอยู่ในห้องสมุดไม่ต่ำว่า 3,000 สูตร เรียกว่าผู้ประกอบการไม่ต้องลองผิดลองถูกให้เสียเวลา เราสามารถให้คำปรึกษาจนสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบได้ ไปจนถึงการให้คำปรึกษาการตั้งโรงงานต้นแบบ" นายทานทัต
ตัวอย่างธุรกิจที่ศูนย์ ITC ลำปางเข้าไปสนับสนุน อาทิ กระเบื้องศิลาดลของบริษัทเคอร่าไทล์ เซรามิก จำกัด แต่ที่น่าจะรู้จักกันดีคือแบรนด์ "ชามตราไก่" ของ บริษัทธนบดีเดคอร์เซรามิค จำกัด ซึ่งนอกเหนือจากชามตราไก่แล้ว ธนบดียังเป็นผู้เริ่มต้นผลิตรูปลอกเซรามิกสีบนเคลือบแห่งแรกของภาคเหนือ ซึ่งเป็นการพัฒนาวิจัยร่วมมือกับ ITC ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 จ.เชียงใหม่และศูนย์ ITC กลุ่มพัฒนาเซรามิกและวัสดุอุตสาหกรรม จ.ลำปาง ที่มีส่วนช่วยในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การทดสอบและวิเคราะห์วัตถุดิบ ให้คำแนะนำปรึกษาต่างๆ สนับสนุนสูตรน้ำเคลือบจากห้องสมุดเคลือบ ใช้บริการเครื่องจักรต่างๆ เพื่อการทดลอง จนพัฒนาเป็นสินค้านวัตกรรม อาทิ ผลิตภัณฑ์เซรามิกให้มีลวดลายนูนต่ำด้วยเทคนิคพ่นทราย จานรองแก้วดูดน้ำได้ จนสร้างชื่อเสียงในฐานะผู้ผลิตเซรามิคของตกแต่งบ้าน ส่งออกไปยัง 73 ประเทศทั่วโลก
"นอกจากชามตราไก่แล้ว บริษัทยังได้เพิ่มแบรนด์สินค้าให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยมีการติดตั้งเทคโนโลยีเกี่ยวกับหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Automation)ตลอดจนเชื่อมต่อเครือข่าย 'Internet of Thing (IoT)' เข้ากับเครื่องจักรกล Industrial automation เพื่อให้เป็นอุปกรณ์อัจฉริยะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเข้าไปขอคำปรึกษาและคำแนะนำจากศูนย์ ITC กลุ่มพัฒนาเซรามิกและวัสดุอุตสาหกรรม จ.ลำปาง อีกด้วย" นายพนาสิน ธนบดีสกุล ศิลปินหนุ่มและกรรมการผู้จัดการ บริษัทธนบดีเดคอร์เซรามิค จำกัดทายาทรุ่นที่ 2 แห่งชามตราไก่เล่า ข้ามมาต่อกันที่เชียงใหม่กันบ้าง ที่ตลอดระยะเวลากว่า 6 เดือน นับจากการเปิดตัวของศูนย์ ITC ศูนย์ส่งเสริม อุตสาหกรรมภาคที่ 1 จ.เชียงใหม่ มีผู้ประกอบการและผู้สนใจมาใช้บริการ ฝึกอบรม สัมมนา และศึกษาดูงานแล้วกว่า 1,000 ราย และได้พัฒนาผลงานนวัตกรรมให้ SMEs ไปแล้วกว่า 51 ชิ้นงาน โดยครอบคลุมพื้นที่รับผิดชอบภาคเหนือตอนบน 8จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน แม่ฮ่องสอน โดย นายสุรพล ปลื้มใจ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ศูนย์ ITC ภาคที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่มีแพลตฟอร์มการให้บริการ 2 ส่วนตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในพื้นที่ ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry) หรือ UNIT One Connection : (UNIT 1C) และ 2.อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป (หน่วยพัฒนาสินค้าต้นแบบเกษตรแปรรูป UNIT Pilot Plant : (UNIT PP) ที่ให้บริการตั้งแต่คำแนะนำปรึกษาไปจนถึงการสนับสนุนเข้าถึงแหล่งเงินทุน และช่วยพัฒนาสินค้าต้นแบบด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง เพื่อรองรับผู้ประกอบการในพื้นที่ที่ไม่สามารถทดลองผลิตผลิตภัณฑ์ต้นแบบก่อนนำไปทดลองตลาดได้
"ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 จ.เชียงใหม่ นอกจากพัฒนาผู้ประกอบการในพื้นที่ตามพันธกิจจากศูนย์ ITC ส่วนกลางให้ดียิ่งขึ้นแล้ว เรายังเร่งพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือกับ Big Brothers (หรือ BB) โดยจับคู่ความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนที่มีความพร้อมมาแชร์องค์ความรู้ หรือเครื่องไม้เครื่องมือให้กับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ซึ่งตอนนี้มี BB เฉลี่ยจังหวัดละ 2 ราย นอกจากเป็นการทำ CSR ให้กับธุรกิจแล้ว ยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถให้ผู้ประกอบการพื้นที่อีกด้วย" ผอ.สุรพล เผยถึงจุดเด่นของศูนย์ ITC ภาคที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่
สำหรับผู้ประกอบการในพื้นที่ที่เข้ามาใช้บริการที่ศูนย์ ITC ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 จ.เชียงใหม่ จนประสบความสำเร็จในการต่อยอดสินค้านวัตกรรมไปสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ มีมากมายหลากหลายแบรนด์ อาทิ ผลิตภัณฑ์ผงกาแฟชงพร้อมดื่ม "เย็นใจ" ที่เข้ามาขอคำปรึกษาและขอทดลอง วิจัย และพัฒนาสูตร ตลอดจนใช้บริการเครื่องจักรภายในศูนย์แห่งนี้ อาทิ เครื่องสกัดด่วน, เครื่องระเหยข้นชนิดฟิล์มบาง, เครื่องทำผงอบแห้งแบบพ่นฝอย (Spray Dryer) จนได้เป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ก่อนนำไปทดสอบการตลาด, ผลิตภัณฑ์ผงหลินจือสกัด "สยามเห็ด" ที่นำเห็ดหลินจือตกเกรดมาสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างผงชงและแคปซูล
เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ข้าวซอยกึ่งสำเร็จรูปพร้อมปรุง "ภรณ์เสวย" ของ อิทธิเชษฐ์ ศักดิ์ศิวณาถ เจ้าของร้านอาหารที่มีแนวคิดจะนำข้าวซอยกึ่งสำเร็จรูป ส่งไปขายในจังหวัดต่างๆ จึงเข้ามาที่ศูนย์ ITC เชียงใหม่ เพื่อใช้บริการเครื่อง Spray Dryer, เครื่อง Freeze Dryer และเครื่องอบแห้งด้วยระบบลมร้อน โดยศูนย์ ITC เชียงใหม่ยังดำเนินการออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอีกด้วย
"ก่อนหน้านี้ผลิตภัณฑ์ของเรามีอยู่แล้ว แต่เรานำมาพัฒนาใหม่ โดยเฉพาะการรักษาคุณภาพด้านรสชาติและคงอัตลักษณ์ท้องถิ่นเอาไว้ ซึ่งศูนย์ ITC ก็เข้ามาให้ความช่วยเหลือตรงนี้ในการผสมผสานกลิ่นอายของศิลปะเครื่องเขินเข้ามาอยู่บนบรรจุภัณฑ์ และการคงความสดใหม่รสชาติให้คงเดิมมากที่สุด ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก ปัจจุบันผลิตภัณฑ์นี้ได้รับการตอบรับดีจากชาวไทยและชาวต่างชาติ ตอนนี้เราได้รับการติดต่อไปจำหน่ายยังประเทศอังกฤษ" เจ้าของภรณ์เสวยกล่าว
เหมือนกับผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพอย่าง Nature Life Heath Care ของ จักรีพร ไชยกุล และ รัฐพล มั่นมณี ที่ต้องการนำสมุนไพรไทยประเภทไพล มาพัฒนาเป็นสมุนไพรนั่งถ่านเพื่อบำบัดคุณแม่หลังคลอด โดยเมื่อแรกเป็นการนำไอเดียเข้ามาปรึกษากับทางศูนย์ ITC เชียงใหม่ จนในที่สุดสามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบ โดยผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้ยังได้รับรางวัลจากงานประชุมวิชาการและการประกวดนวัตกรรมบัณฑิตศึกษาระดับชาติและนานาชาติอีกด้วย
"โดยพื้นฐานเรามีความรู้เรื่องแพทย์แผนไทยอยู่แล้ว แต่การนำไพลมาพัฒนาในรูปแบบถ่านเพื่อคุณแม่หลังคลอด ยังเป็นรูปแบบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน เราจึงเข้ามาปรึกษาที่ศูนย์ ITC เชียงใหม่ เพื่อศึกษาแนวโน้มความเป็นไปได้ในการผลิตให้ใช้งานง่ายขึ้น ซึ่งเราได้รับความช่วยเหลือทั้งเครื่องไม้เครื่องมือ คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งศูนย์ยังเป็นสื่อกลางประสานความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานต่างๆ นอกจากนี้เรายังพัฒนาไปยังผลิตภัณฑ์รูปแบบอื่นๆ เช่น สบู่, ถุงประคบ, ถุงสมุนไพรสำหรับแช่เท้า เป็นต้น" จักรีพร เผยถึงจุดเริ่มต้นของผลิตภัณฑ์
เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของซัคเซสเคสจากปากของผู้ประกอบการตัวจริง หากคุณต้องการหาผู้ช่วยเพื่อต่อยอดธุรกิจ แต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร? เข้ามารับคำปรึกษาได้ โดยผู้ประกอบการ SMEs อุตสาหกรรมเซรามิกในพื้นที่และต่างจังหวัดทั่วประเทศ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 ถ.ทุ่งโฮเต็ล อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โทร 053 245-361-2 หรือติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวต่างๆ ได้ทางเว็บไซต์ https://ipc1.dip.go.th/th
ส่วนผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ ติดต่อเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 ถ.ทุ่งโฮเต็ล อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โทร 053 245-361-2 หรือติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวต่างๆ ได้ทางเว็บไซต์ https://ipc1.dip.go.th/th