กรุงเทพฯ--6 ธ.ค.--Connect PR
เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ที่ผ่านมา (วันสุดท้ายของการประชุม) เวทีการประชุมวิชาการนานาชาติด้านโรคภูมิแพ้และวิทยาภูมิคุ้มกัน World Allergy Congress 2007 (WAC 2007) ครั้งที่ 20 ได้มีการเปิดเผยถึงความสำเร็จของการจัดประชุมครั้งแรกในประเทศไทย ว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากประเทศสมาชิกที่เข้าร่วม อีกทั้งความรู้ที่ได้รับจากการร่วมแสดงความคิดเห็นต่างเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการรักษาผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ทั่วโลก
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปกิต วิชยานนท์ นายกสมาคมโรคภูมิแพ้ และวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าด้วยอุบัติการณ์ของผู้ป่วยภูมิแพ้ทั่วโลก มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ เวทีการประชุมในครั้งนี้ถือเป็นช่องทางหนึ่งในการแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขร่วมกัน ผ่านการระดมสมองของ แพทย์และนักวิจัยจากทั่วโลก ประกอบกับผลงานวิจัยที่นำเสนอในการจัดประชุม ถือเป็นความรู้ใหม่ ๆ ด้านโรคภูมิแพ้และวิทยาภูมิคุ้มกัน ที่ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถนำไปปรับใช้กับการแก้ไขปัญหา โรคภูมิแพ้ในประเทศของตนได้
“ตลอดระยะเวลา 5 วันของการจัดประชุม ได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ เกี่ยวกับโรคภูมิแพ้ จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญถึง 4,200 คน จาก 82 ประเทศ ซึ่งเวทีสัมมนา โดยมีแพทย์ในประเทศไทย ได้ร่วมแสดงผลงานวิจัยอีกด้วย นอกจากจากนี้ในที่ประชุมยังมีการพูดถึงการผลิตวัคซีนรักษาผู้ป่วยโรคภูมิแพ้กันอย่างแพร่หลาย ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของวิวัฒนาการทางการรักษา แม้จะยังต้องใช้เวลาในการศึกษาวิจัยอีกระยะหนึ่ง ทั้งนี้ ทางองค์กรโรคภูมิแพ้โลก(World Allergy Organization - WAO) โดย ศาสตราจารย์นายแพทย์ไมเคิล คาไลเนอร์ ประธานองค์กร ได้พูดถึงการจัดงานในครั้งนี้ว่า เป็นการจัดงานที่ประสบความสำเร็จที่สุดเท่าที่เคยมีมา และจะใช้ประเทศไทยเป็นต้นแบบการจัดประชุมในอนาคต โดยจะเริ่มที่การจัดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านโรคภูมิแพ้ฯ ครั้งที่ 21 ที่กรุงบัวร์โนส ไอเรส ประเทศอาร์เจนติน่าเป็นที่แรก อย่างไรก็ตาม การจัดประชุมนานาชาติในครั้งนี้ นอกจากจะได้รับผลสำเร็จในแง่ของความก้าวหน้าทางการแพทย์ในเรื่องของโรคภูมิแพ้แล้ว ยังส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตาของชาวต่างชาติอีกด้วย เพราะในช่วงของการประชุมเป็นช่วงเดียวกับการเฉลิมพระชนม์พรรษา 80 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นโอกาสที่ชาวต่างชาติจะได้เห็นถึงความจงรักภักดีของปวงชนชาวไทยที่มีต่อพระมหากษัตริย์ของเรา ในส่วนสุดท้ายการที่มีสมาชิกจากทั่วโลกเข้าร่วมประชุม ยังทำให้เม็ดเงินไหลเข้าประเทศช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้อีกทางหนึ่ง” ศ.นพ.ปกิต กล่าว