กรุงเทพฯ--27 มิ.ย.--สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยในงานแถลงข่าว "พลิก SME สู่อนาคตด้วยนวัตกรรม" ในกิจกรรมยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อาหาร ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจระดับเติบโต (Strong/Regular Level 2561) เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการตั้งแต่กระบวนการผลิตสถานที่ประกอบการ โดยมีหน่วยงานภาคี 3 หน่วยงานหลักให้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนกิจกรรมฯ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้ประกอบการตั้งแต่กระบวนการผลิต สถานที่ประกอบการ จนได้รับมาตรฐาน GMP/Primary GMP เชื่อมโยงกับโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม(ITAP)ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่นำนวัตกรรมมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กับผู้ประกอบการ ให้ผลิตภัณฑ์มีความแตกต่างด้านสามารถแข่งขันได้ และมีบริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย)จำกัด หรือ เซ็นทรัลแล็บไทย ซึ่งเป็นแล็บที่มีมาตรฐานสากล ISO/IEC 17025 ในการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ เพื่อสร้างมาตรฐานให้กับผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการและผู้บริโภคด้วย ทั้งนี้ นับเป็นการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานดังกล่าวให้เกิดการทำงานสอดประสานและรวดเร็วขึ้น ซึ่งถือเป็นการสนับสนุนส่งเสริมและสร้างความเข็มแข็งให้ผู้ประกอบการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนและสามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างยอดให้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 นับเป็นการพลิก SME ไทยให้ปรับตัวได้ภายใต้การแข่งขันในยุคดิจิทัล และสอดคล้องกับนโยบาย "Thailand 4.0" ของภาครัฐ
ภญ.สุภัทรา บุญเสริม ผู้อำนวยการสำนักด่านอาหารและยา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า อย.ได้พัฒนาต้นแบบสถานประกอบการแม่ข่าย Primary GMP และสถานประกอบการผลิตอาหาร จำนวน 55 แห่งจาก 50 จังหวัด เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านสถานที่ผลิตตามเกณฑ์ Primary GMP ในชุมชน สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้และเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ผู้ประกอบการรายอื่นได้ นอกเหนือจากการพัฒนาสถานที่ผลิตให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานแล้ว การมีสินค้าที่เป็นความต้องการของตลาด โดยร่วมกับ สวทช.และทีมที่ปรึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆร่วมกันศึกษาค้นคว้านวัตกรรมใหม่เพื่อช่วยพัฒนาผู้ประกอบการแม่ข่าย ในการสร้างนักพัฒนาอาหารเพื่อให้สร้างผลิตภัณฑ์ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีคุณภาพมาตรฐานตามกฏหมายกำหนด เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคว่าสินค้ามีคุณภาพและความปลอดภัย เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทยอีกด้วย สำหรับหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตอาหารขั้นต้นนั้น จะควบคุมตั้งแต่สถานที่ผลิต กระบวนผลิต เครื่องมือ อุปกรณ์ การสุขาภิบาล การทำความสะอาด และบุคลากร เป็นเกณฑ์เบื้องต้นในการดูแลสถานที่ผลิตให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ดี มีคุณภาพ มาตรฐาน อีกทั้งเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ให้สามารถส่งออกจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศได้สะดวกขึ้น สำหรับผู้ประกอบการที่พัฒนาระบบการผลิตผ่านตามเกณฑ์จีเอ็มพีขั้นพื้นฐาน สามารถขอเลขสารบบอาหาร หรือเลข อย. ไปแสดงในผลิตภัณฑ์
รศ.ดร.รัชพล สันติวรากร ผู้อำนวยการ ฝ่ายพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)กล่าวว่า สวทช. ได้ดำเนินโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) มาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2536 เพื่อสนับสนุน SME ในการทำวิจัยและพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาที่พบจริงในการผลิต โดยITAP ทำหน้าที่เสมือนเป็นฝ่ายวิจัยพัฒนาให้กับ SME เพื่อใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาทั้งทางด้านคุณภาพ เพิ่มผลิตภาพ สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ พัฒนาปรับปรุงกระบวนการ ฯลฯ ทำให้ SME มีความมั่นใจในการลงทุนโดยใช้ วทน. มาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และกระบวนการจนมีรายได้เพิ่มขึ้นได้ ที่ผ่านมา ITAP สรรหาผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ และตรงกับโจทย์ความต้องการของ SME แต่ละราย และสนับสนุนการทำโครงการวิจัยและพัฒนาให้ SME เพื่อยกระดับเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรมมาแล้ว มากกว่า 6,000 โครงการ และทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ จากมหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยต่างๆ ไม่น้อยกว่า 1,300 ราย สำหรับโครงการการพัฒนาผู้ประกอบการอาหารที่เป็นต้นแบบสถานประกอบการแม่ข่ายของ อย. ITAP(สวทช.) มีความตั้งใจเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยพัฒนาผู้ประกอบการให้มีความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมระดับชุมชน ให้เป็นสินค้าที่มีมาตรฐานและตรงตามความต้องการของตลาด โดยการผลักดันผลิตภัณฑ์อาหารต้นแบบจากงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ต่อไป
นายจารึก จันทรวงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด หรือ เซ็นทรัลแล็บไทย กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ถือเป็นความจำเป็นและเรื่องสำคัญที่ผู้ประกอบการเมื่อผลิตสินค้าขึ้นมาแล้วต้องนำสินค้าเข้ามาตรวจทางห้องแล็บ เพื่อตรวจวิเคราะห์สิ่งที่อาจสารปนเปื้อน หรือ สารเคมีตกค้างในสินค้าได้ ซึ่งหากผู้ประกอบการได้นำสินค้ามาผ่านการตรวจจากแล็บแล้วก็จะสามารถความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการและผู้บริโภคได้ เพราะด้วยศักยภาพและขีดความสามารถของแล็บที่เครื่องมือและระบบมาตรฐานสากล ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17025 มากกว่า 1,000 รายการทดสอบ รองรับงานทดสอบได้มากกว่า 400,000 ตัวอย่างต่อปี สามารถให้บริการด้านการตรวจวิเคราะห์มาตรฐานสินค้าให้กับกลุ่มผู้ส่งออก กลุ่มผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจการเกษตร SMEs OTOP โดยที่ผ่านมา เซ็นทรัลแล็บให้บริการแก่ผู้ประกอบการส่งออกด้านอาหารเป็นหลัก ปี 2560 มีสินค้าที่เข้ารับการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการทั้งหมด 500,000 ตัวอย่าง กว่าร้อยละ 71.16 เป็นสินค้ากลุ่มอาหาร
ทั้งนี้ ในการแถลงข่าว"พลิก SME สู่อนาคตด้วยนวัตกรรม"ครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กิจกรรมดังกล่าวแล้ว ยังนับเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการ SME ไทยให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายและช่วยต่อยอดธุรกิจให้กับผู้ประกอบการด้วย