กรุงเทพฯ--28 มิ.ย.--สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง
สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำสื่อมวลชนทุกแขนงลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงานพัฒนาการด้านการเกษตรในพื้นที่ จังหวัดระยอง ประกอบด้วยทุเรียนแปลงใหญ่ การท่องเที่ยวเชิงเกษตร และวิสาหกิจชุมชนที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินงานภายใต้การส่งเสริมและสนับสนุนของ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยองร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดระยอง และสำนักงานเกษตรอำเภอแกลง
นายชาตรี บุญนาค ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง เปิดเผยว่า สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินงานตามนโยบายการส่งเสริมและพัฒนาด้านการผลิตสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพและพัฒนาเกษตรกร องค์กรเกษตรกร และวิสาหกิจชุมให้เข้มแข็ง ภายใต้การน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติใช้
ทั้งนี้เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้น และที่ผ่านมาได้พัฒนางานการส่งเสริมการเกษตรสู่การเป็น Smart Agriculture สอดรับนโยบาย Thailand 4.0 และเพื่อเป็นการเผยแพร่ความสำเร็จในการส่งเสริมการเกษตรในด้านต่างๆ สู่การรับรู้ของสังคมและเพื่อเป็นแม่แบบแก่เกษตรกรรายอื่นๆ โดยทั่วไปได้รับทราบและนำไปเป็นแบบอย่าง จึงได้จัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจรขึ้น โดยนำคณะสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ลงพื้นที่เยี่ยมชมผลการดำเนินงานด้านการส่งเสริม การบริหารจัดการด้านการเกษตร ตลอดถึงกระบวนการผลิต และการบริหารจัดการของกลุ่มเกษตรกร องค์กรเกษตร ในพื้นที่อำเภอแกลง จังหวัดระยอง จำนวน 3 จุด ด้วยกันหนึ่งในนั้นก็คือ แปลงใหญ่ทุเรียนนายสัมพันธ์ แสวงผล หมู่ที่ 4 ตำบลวังหว้า อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นแปลงใหญ่ที่สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ให้การสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินงาน
โดยมีพื้นที่เพาะปลูกทุเรียนทั้งหมด 727 ไร่ จำนวน 78 แปลง มีสมาชิกจำนวน 40 ราย สินค้าหลักในแปลงคือ ทุเรียน ซึ่งมีผลผลิตรวม 800 ตันต่อปี มีนายสัมพันธ์ แสวงผล ทำหน้าที่เป็นประธานแปลงใหญ่ นางมาริน สมคิด เกษตรอำเภอแกลง เป็นผู้จัดการแปลง ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้เป้าหมายการพัฒนา 5 ด้าน ได้แก่ การลดต้นทุนการผลิตให้ได้ร้อยละ 20 ซึ่งสามารถดำเนินการได้ จาก 16,000 บาท ต่อไร่ ลดลงเป็น 12,800 บาทต่อไร่ สามารถเพิ่มผลผลิตได้ร้อยละ 20 และสามารถดำเนินการจนได้ผลผลิตจาก 1,200 กก. ต่อไร่ เป็น 1,440 กก. ต่อไร่
ผลผลิตได้มาตรฐาน GAP และมาตรฐานอินทรีย์ สามารถส่งออกผลผลิตไปยังตลาดต่างประเทศ จากร้อยละ 50 เป็นร้อยละ 60 มีการบริหารจัดการแบบรวมกลุ่มเพื่อจำหน่ายผลผลิต อีกด้วย