กรุงเทพฯ--28 มิ.ย.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร ณ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ว่า คณะกรรมการฯ มีมติเห็นชอบมาตรฐานสินค้าเกษตร ซึ่งมีทั้งมาตรฐานบังคับและมาตรฐานทั่วไป โดยในส่วนของมาตรฐานบังคับนั้น ที่ประชุมมีมติเห็นชอบมาตรฐานสินค้าเกษตรในเรื่องการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มไก่ไข่ ซึ่งการจัดทำ (ร่าง) มาตรฐานดังกล่าว ได้ปรับปรุงจาก มกษ.6909-2553 การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มไก่ไข่ มาตรฐานอาเซียน และเอกสารทางวิชาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง มีขอบข่ายการบังคับมาตรฐานสินค้าเกษตรนี้โดยกำหนดการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มไก่ไข่ที่เลี้ยงไก่ไข่เพื่อการค้า (จำนวนตั้งแต่ 1,000 ตัวขึ้นไป) ครอบคลุมองค์ประกอบฟาร์ม การจัดการฟาร์ม อาหาร น้ำ การจัดการบุคลากร การจัดการสุขภาพสัตว์ การจัดการด้านสวัสดิภาพสัตว์ การจัดการไก่รุ่น ไก่ระยะไข่และไข่ไก่ สิ่งแวดล้อม และการบันทึกข้อมูล เพื่อให้ได้ไข่ไก่ที่ปลอดภัย มีคุณภาพ เหมาะสมในการนำไปบริโภคเป็นอาหาร ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ มกอช. จัดทำร่างกฎกระทรวงเพื่อรับฟังความเห็นตาม พรบ.มาตรฐานสินค้าเกษตรต่อไป
สำหรับมาตรฐานทั่วไป ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ 1) มาตรฐานสินค้าเกษตร : เมล็ดกาแฟโรบัสตา เนื่องจากข้อมูลที่นำมาใช้ในการอ้างอิงมาตรฐานฯ มีการเปลี่ยนแปลง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขอให้มีการแก้ไขมาตรฐานให้มีความเป็นปัจจุบัน อีกทั้งเพื่อให้ผลผลิตมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค เกษตรกรปฏิบัติได้จริง 2) มาตรฐานสินค้าเกษตร : แผ่นใยไหม แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ แผ่นใยไหมทั่วไป และแผ่นใยไหมสำหรับสกัดสารสำคัญ 3) เมล็ดพันธุ์พืชอาหารสัตว์ โดยมีสาระสำคัญทั้งในเรื่องขอบข่าย คุณภาพ การบรรจุ การแสดงฉลาก และวิธีการวิเคราะห์และการชักตัวอย่าง และ 4) (ร่าง) แนวปฏิบัติในการใช้มาตรฐานสินค้าเกษตร การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด ปัจจุบันการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ของประเทศผู้นำเข้า ให้ความสำคัญด้านคุณภาพ และการจัดการด้านการอารักขาพืชมากขึ้น จึงควรมีมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดที่มีความสมบูรณ์ปราศจากโรคและแมลงศัตรูพืชให้มีคุณภาพและเหมาะสมในการปลูก
ทั้งนี้ การกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรต่าง ๆ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มุ่งหวังเพื่อส่งเสริมสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และมีความปลอดภัย ซึ่งจะสามารถสร้างความเข้มแข็งและสร้างขีดความสามารถให้กับเกษตรกรได้ต่อไปในอนาคต